วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ปัญหาและแนวโน้มในการพัฒนาหลักสูตร

สภาพปัญหาของการพัฒนาหลักสูตร

        สภาพปัญหาของการพัฒนาหลักสูตร คือปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรที่เป็นปัญหาอันเกิดจากการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันสร้างหลักสูตร และร่วมกันนำหลักสูตรไปใช้ มีดังนี้

        1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตน                                

        2. ขาดการประสานงานหน้าที่ที่ดีระหว่างหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตร                      
        3. ผู้บริหารระดับต่างๆเห็นว่าหลักสูตรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ

        4. ปัญหาการไม่เปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนของครูตามแนวทางของหลักสูตร

        5. ปัญหาการเผยแพร่หลักสูตร การสื่อสารทำความเข้าใจในหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นใหม่

แนวโน้มของการพัฒนาหลักสูตร

                เมื่อกล่าวถึงแนวโน้มของการพัฒนาหลักสูตร มีประเด็นสำคัญเกี่ยวข้อง 2 ประเด็นคือ ข้อมูลที่นำมาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร กับการวิจัยทางการศึกษา โดยจะพบว่า ในระยะเวลาประมาณ 10 ปีและจากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องสรุปดังนี้
                รายงานการศึกษาวิจัยในช่วงทศวรรษ 1940 และ 1950 มุ่งศึกษา ตัวแปรทำนานจากคุณสมบัติของครู มีความเชื่อว่าครูที่มีคุณสมบัติมีแนวโน้มที่จะสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

         1) เสียง
         2) รูปร่างหน้าตา
         3) ความมั่นคงในอารมณ์
         4) ความน่าเชื่อถือ
         5) ความอบอุ่น
         6) ความกระตือรือร้น

                ต่อมาผลการศึกษาวิจัยความมีประสิทธิภาพของครูในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 ได้ข้อสรุปและเสนอแนะในการพัฒนาวิชาชีพด้วย การนิเทศแบบคลินิก เทคนิควิธีสังเกตการณ์สอนชั้นเรียน เป็นต้น
               ต่อมาในทศวรรษ 1980 เมเดอลีน ฮันเตอร์ และคณะมหาวิทยาลัยยูซีแอลเอใช้หลักทฤษฎีเป็นฐานในการเรียนการสอนสรุปได้ดังนี้

          1) การสอนมีรากฐานมาจากทฤษฎีการเรียนรู้แบบพฤติกรรมนิยม

          2) การอนุมานจากความคิดในด้านการเรียนรู้ เช่น แรงจูงใจ ความทรงจำ การถ่ายโอนความรู้ เป็นต้น

          ผลการศึกษาวิจัยในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 การเปลี่ยนแปลงทัศนะการเรียนรู้แบบพฤติกรรมนิยม เป็นการเรียนรู้ด้วยปัญญา สถานศึกษาใดที่มุ่งมั่นพัฒนาในด้านการประเมินที่มีประสิทธิภาพและการพัฒนาวิชาชีพการสอนจึงต้องเริ่มด้วยการกำหนดมาตรฐานการสอนซึ่งสะท้อนสิ่งที่ครูควรรู้ ในประเทศไทยหน่วยงานหรือองค์กรวิชาชีพครูที่เรียกว่าคุรุสภาได้เสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้มีความรู้สมรรถนะความสามารถในการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ

          แนวโน้มของการพัฒนาหลักสูตรอาจพิจารณาได้จากผลการศึกษาวิจัย และข้อมูลพื้นฐานด้านต่างๆ ที่นำมาใช้การพัฒนาหลักสูตร
แนวโน้มของหลักสูตร

                    ออนสไตน์ได้สรุปไว้ว่าแนวโน้มของหลักสูตรมีดังนี้

         1.การศึกษาในรูปแบบอีเล็กทรอนิกส์ ความเจริญก้าวหน้าของวิดิทัศน์สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนได้ วีดิโอเทป คาสเสท และดิสค์สามารถนำมาสอนได้ทั้งในห้องเรียน ห้องสมุด ศูนย์การเรียนรู้และที่บ้านของนักเรียน วีดิโอทัศน์มีความสะดวกที่นำมาเรียนได้ตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยไม่ให้พลาดบทเรียนไปได้ จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสามารถที่จะพิมพ์วิดิทัศน์หรือภาพจากจอในรูปของภาพถ่าย ตาราง กราฟ หรือ รูปภาพในแบบต่างๆลงในกระดาษสำหรับศึกษาต่อได้
          ความรู้ในรูปแบบอีเล็กทรอนิกส์นี้ยังสามารถจัดเก็บไว้ในสถานที่ที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้โดยผ่านระบบเครือข่าย ใครๆก็สามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศและสามารถใช้ประโยชน์ได้

          2.การรู้ใช้เทคโนโลยี โรงเรียนปัจจุบันเห็นความสำคัญในวิวัฒนาการใช้เทคโนโลยี จึงได้ให้การศึกษากับบุคลากรเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อีเล็กทรอนิกส์ เลเซอร์และหุ่นยนต์ การเรียนรู้คอมพิวเตอร์ เป็นทักษะพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากทักษะการอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นหรือที่รู้จักกันว่า 3Rs

          3.การเรียนรู้ตลอดชีวิต แนวโน้มการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นความจำเป็นกับสังคมสมัยใหม่อันเป็นผลสืบเนื่องจากความรู้ที่มีมากมาย การเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่มีผลต่อประชาชนในการประกอบอาชีพที่ปรับเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาใหม่ที่มีผลต่อเป้าหมายของบุคคลและสังคม การศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิตไม่ใช่เป็นเพียงการศึกษาในโรงเรียนเท่านั้น การศึกษาผู้ใหญ่จึงถูกคาดหวังเพิ่มขึ้นในปีคริสต์ศตวรรษที่ 1990

          4.การศึกษานานาชาติ สังคมอเมริกันถือว่าได้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาได้มาจากประเทศต่างๆ และได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ หมู่บ้านโลก(global village) กล่าวถึงมาตรฐานของการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจของชาติ(อเมริกา)มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่อื่นๆของโลก

          5.สิ่งแวดล้อมศึกษา ผลจากปัญหาต่างๆนำไปสู่ความต้องการความรู้และโปรแกรมใหม่ในสาขาวิชานิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมศึกษา ถึงแม้ว่าเดิมที่มีวิชาที่เกี่ยวข้องคือธรณีวิทยา ชีววิทยา ภูมิศาสตร์ แต่ความต้องการความรู้ที่มีความหมายและมีความสัมพันธ์กับการแก้ปัญหาชีวิตและความเป็นอยู่ของมวลมนุษย์ในยามคับขันหรือช่วงเวลาเร่งด่วน

          6.การศึกษาเกี่ยวกับนิวเคลียร์ การใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ ได้แก่โรงไฟฟ้า การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การบำบัดด้วยการฉายรังสี ความรู้เรื่องหลังงานนิวเคลียร์มีความจำเป็นว่าพลังงานดังกล่าวนี้มีผลกระทบต่ออากาศ อาหารอย่างไรกรณีที่มีการรั่วไหลจะมีผลกระทบในขอบเขตห่างไกลเพียงใด และความเข็มข้นของรังสีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ที่อยู่ใกล้และไกลออกไปนับพันไมล์ ดังนั้นหลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาเกี่ยวกับนิวเคลียร์ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรโลกศึกษา

         7.สุขศึกษาและการดูแลสุขภาพกาย แนวโน้มเกี่ยวกับสุขภาพของประชากรชาวอเมริกันจะต้องได้รับความรู้จากหลักสูตรใหม่ๆ ตัวอย่างที่จัดเจนคือ นักการศึกษานำประเด็นเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบกพร่องที่รู้กันในชื่อว่า AIDS นำมาให้ความรู้กับผู้เรียน บรรจุเป็นเรื่องหนึ่งในหลักสูตร

         8.การศึกษาต่างด้าว สังคมอเมริกันหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีชาวต่างด้าวเข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมาก นัยสำคัญของคนต่างด้าวจำนวนมาก มาจากครอบครัวที่เรียกว่า ยากจน เด็กที่มาจากประเทศต่างๆจะถูกตีตราว่า ด้อยความสามารถในการเรียนรู้ เพื่อช่วยให้คนต่างด้าวที่เข้ามาใหม่นักการศึกษาให้        คำแนะนำว่าโรงเรียนควรได้จัดหลักสูตรสองภาษา หลักสูตรพหุวัฒนธรรมจะช่วยให้เด็กต่างด้าวได้เรียนรู้และอยู่ในสังคมใหม่ได้ดียิ่งขึ้น

         9.ภูมิสาสตร์ย้อนกลับ การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นผลมาจากการตีพิมพ์หนังสือชื่อ Nation at Risk ในปี ค.ศ.1983 เด็กอเมริกันจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัว รวมถึงภูมิศาสตร์พื้นฐาน มีการทบทวนสาระสำคัญทางภูมศาสตร์ อาทิเรื่อง back to basic, การเรียนรู้วัฒนธรรม นิเวศวิทยาศึกษา และโลกศึกษา เรื่องราวต่างๆที่ศึกษาเล่าเรียนจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้รู้จักบทบาทของตนเองเพิ่มยิ่งขึ้น

         10.การศึกษาช่วงเกรดกลาง ผู้เรียนที่อายุระหว่าง 10-15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เปลี่ยนแปลงความเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างรวดเร็ว การศึกษาที่จัดให้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับ ก่อนจะเป็นวัยรุ่น และวัยรุ่นตอนต้น เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนมัธยม โรงเรียนเกรดกลางมุ่งให้ความสำคัญกับการเรียนรู้สังคมหรือสังคมประกิต ไม่เน้นวิชาการ แต่ให้ความสำคัญกับ intramural sport แต่ไม่เน้น interscholastic sport ถึงว่าโรงเรียนเกรดกลางจะมีอยู่โดยทั่วไป แต่หลักสูตรใหม่ที่เหมาะสมกับกลุ่มเด็กดังกล่าวนี้จำเป็นต้องพัฒนาขึ้น การพัฒนาหลักครูผู้สอนจะต้องเปลี่ยนโปรแกรมการพัฒนาครูจะต้องมีความแตกต่างจากครูประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในอนาคตสถาบันการผลิตครูจะต้องมุ่งพัฒนาความรู้ ทักษะที่จำเป็นสำหรับการสอนโรงเรียนเกรดกลาง

         11.การศึกษาสำคัญผู้สูงอายุ สังคมปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นักการศึกษามีความเชื่อว่าโรงเรียนจะต้องสอนให้ผู้เรียนเข้าใจปัญหาและความคาดหวังของผู้สูงอายุ และช่วยให้มีความรักต่อผู้สูงอายุ(ทั้งพ่อแม่และปู่ย่าตายาย)ในโรงเรียนจะต้องประสมประสานผู้สูงอายุทั้งผู้ที่มีความประสงค์จะเกษียณอายุและผู้เกษียณอายุจากงานประจำมาช่วยงานในโรงเรียนในรูปแบบ อาสาสมัคร ผู้ช่วยสอนและแหล่งทรัพยากรบุคคลในการเรียนรู้

          12.ธุรกิจการศึกษา โรงเรียนหรือสถานศึกษารูปแบบต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในรูปแบบของเอกชนและหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจ อาทิ สถานเลี้ยงเด็ก ศูนย์รับเลี้ยงเด็กช่วงกลางวันและช่วงหลังเลิกเรียน ศูนย์กีฬาและโคชเอกชน ศูนย์ติวเตอร์แฟรนไชส์ วิทยาลัยเอกชนเพื่อให้บริการแนะแนว (ในการเลือกมหาวิทยาลัย) สถาบันติวเตอร์สอบ SAT และการทดสอบเพื่อขอรับในรับรองประกอบวิชาชีพ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นการศึกษาเข้าสู่ตลาดการค้าที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมในการศึกษาจากผู้เรียนโดยตรง

          13.การศึกษาเพื่ออนาคต จากงานเขียนของทอฟเลอร์ ที่กล่าวถึงอนาคตว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่สามารถที่กำหนดขอบข่ายของการเปลี่ยนแปลงได้เลยนั้น จึงนำมาเป็นหลักการของความมุ่งหมายการศึกษา ที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถของผู้เรียนแต่ละคนเพื่อที่ผู้เรียนแต่ละคนสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่อง
          แนวทางหนึ่งในการเตรียมตัวผู้เรียนในอนาคตก็คือ ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โปรแกรมหรือรายวิชาใหม่ จะถูกเรียกว่า การศึกษาเล่าเรียนเพื่ออนาคต จะเริ่มในระดับอุดมศึกษา และมัธยมศึกษาในโอกาสต่อไป สาระสำคัญของการศึกษาดังกล่าวนี้พิจารณาจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสถานการณ์ในสังคมโดยไม่มีการแบ่งแยก แต่เป็นทั้งสององค์ประกอบที่ช่วยในการตัดใจในอนาคต โดยทั่วไปการมองอนาคตไม่ใช่ภารกิจที่เล็กๆ แต่เป็นการนำเสนออนาคตที่มีจุดประสงค์การเรียนรู้ โดยปกติทั่วไปที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และนำไปใช้โดยปรับให้เหมาะสมกับตนเองในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปงอย่างรวดเร็ว


หลักสูตรต้องวางแผนเพื่อการบรรลุทักษะในศตวรรษที่ 21

           ในปี 1983 สมาคมการพัฒนาหลักสูตรและการนิเทศ (Association for Supervision and curriculum development : ASCD)ได้เผยแพร่บทความวิจัย ของ Benjamin I. Troutman and Robert D.Palombo เรื่อง Identifying Futures Trends in Curriculum Planning โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 36 คนจากโรงเรียน Virginia Beach Public Schools ข้อมูลที่ได้สรุปได้ว่า ในอนาคตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นตัวชี้การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร อันเป็นผลจาก การขยายความรู้ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และความรู้มีความเป็นศาสตร์เฉพาะการเพิ่มขึ้น ซึ่งมีการศึกษาผลต่อหลักสูตรใน 3 ประเด็น คือ

            1. ความเป็นความรู้ที่ร่วมกันของวิทยาการที่เจริญก้าวหน้า

            2 .ความสมดุลระหว่างความยากลำบากในการได้มาของข้อเท็จจริงกับการพัฒนาทักษะกระบวนการ

            3. เอกสารความรู้ที่ใช้เป็นแหล่งความรู้ในหลักสูตร จากขอบข่ายดังกล่าวนี้กลุ่มตัวอย่างจากโรงเรียน Virginia Beach Public Schools ให้ความเห็นว่าแนวโน้มในอนาคตที่มีผลต่อการวางแผนหลักสูตรมี 15 ประเด็นคือ

                      1.ทักษะพื้นฐานทางวิชาการ (Basic Academic Skills) จะต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับทักษะการสื่อสาร คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะหลักสูตรอาชีวศึกษา

                      2. คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ (Computes and Other Information Technologies) คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆมีรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วอุปมาดั่งเช่นเป็นพาหนะขับเคลื่อนการศึกษาสำหรับผู้เรียนทุกคน การพัฒนาแผนสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในระบบโรงเรียน Virginia Beach Public Schools ตั้งแต่อนุบาลถึงเกรดสิบสอง

                      3. ความยืดหยุ่นของหลักสูตร (Curriculum Flexibility)ให้โอกาสอันยิ่งใหญ่ที่มั่งคั่งสมบูรณ์และรวดเร็วจากหลักสูตร สำหรับอนุบาลถึงเกรดสิบสอง

                      4. การทบทวนหลักสูตร (Curriculum Revision) พัฒนาแผนปฏิบัติการที่แน่ใจว่าสามารถดำเนินการต่อไปได้ หลักสูตรได้รับการทบทวนและมีการประเมินอย่างเป็นระบบ

                      5. ความเป็นประชาธิปไตย (Democratic Ideals)ทำความเข้าใจและให้ความสำคัญกับกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

                      6. โปรแกรมสำหรับเด็กเล็ก (Early Childhood Programs) ขยายโปรแกรมสำหรับเด็กเล็ก (เด็กก่อนอนุบาล)ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสบการณ์การเรียนรู้

                      7. การมองอนาคต (Futures Perspective) การรวมขอบเขตสาระเป็นหลักสูตรเดียวโดยสิ่งต่างๆเหล่านั้นเป็นประเด็นสะท้อนและอธิบายประเด็นร่วมสมัย แนวโน้มอนาคต และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจุบันกับเหตุการณ์ที่ผ่านไปและทางเลือกในอนาคต

                      8. สัมพันธภาพระดับสากล (Global Interrelationships)ให้ความสำคัญกับมุมมองของความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม-ชาติพันธุ์ของมนุษย์ที่หลักสูตรต้องมีความหลากหลาย

                      9. การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ขยายโอกาสสำหรับสมาชิกของชุมชนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนที่สนใจเรียนรู้ในรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

                      10. สื่อมวลชน (Mass Media) ให้ความสำคัญกับทักษะในการวิเคราะห์วิจารณ์ การฟัง และ การดูที่เกี่ยวข้องกับการแปลความหมายจากสื่อ

                      11. การเติมเต็มบุคลิกภาพ (Personal Fulfillment) โรงเรียนเป็นสถานที่อันยิ่งใหญ่ที่จะสร้างความคิดต่อตนเองเชิงบวก และพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล

                      12. การประยุกต์กระบวนการ (Process Approach)หลักสูตรมุ่งที่การแก้ปัญหา การตัดสินใจ ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะการคิดขั้นสูง ทักษะการนำไปใช้ การวิเคราะห์ สังเคราะห์และประเมินค่า

                      13. การพัฒนาทีมงาน (Staff Development ) เพิ่มโอกาสให้พัฒนาทีมงาน โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี

                      14. ใช้ชุมชน (Use of Community) เพิ่มบทบาทของผู้ปกครองและแหล่งเรียนรู้ในชุมชนในการจัดโปรแกรมการศึกษาเชื่อมโยงการเรียนรู้ในชั้นเรียนกับประสบการณ์ในชุมชน

                      15. การอาชีวะและอาชีพศึกษา (Vocational and Career Education) แน่ใจว่าการศึกษาอาชีวและอาชีพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์ในการทำงานและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียน

อ้างอิง

https://sites.google.com/site/viewnaiyana/naew-nom-khxng-kar-phathna-hlaksutr

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การประเมินหลักสูตร (ต่อ)

ขั้นตอนในการประเมินหลักสูตร

          1. ขั้นกำหนดวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายในการประเมินการกำหนดจุดมุ่งหมายในการประเมินเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการในการดำเนินการประเมินหลักสูตร ผู้ประเมินต้องกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการประเมินให้ชัดเจนว่าจะประเมินอะไร จะทำให้เราสามารถกำหนดวิธีการ เครื่องมือ และขั้นตอนในการประเมินได้อย่างถูกต้อง

          2. ขั้นกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่จะใช้ในการประเมินผล การกำหนดเกณฑ์และวิธีการประเมินเปรียบเสมือนเข็มทิศที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการประเมิน เกณฑ์การประเมินจะเป็นเครื่องบ่งชี้คุณภาพในส่วนของหลักสูตรที่ถูกประเมิน การกำหนดวิธีการที่จะใช้ในการประเมินผลทำให้เราสามารถดำเนินงานไปตามขั้นตอนได้อย่างราบรื่น

          3. ขั้นการสร้างเครื่องมือและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินหรือเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่จะมีผลทำให้การประเมินนั้นน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ซึ่งผู้ประเมินจะต้องเลือกใช้และสร้างอย่างมีคุณภาพ มีความเชื่อถือได้และมีความเที่ยงตรงสูง

          4. ขั้นเก็บรวบรวมข้อมูล ในขั้นการรวบรวมข้อมูลนั้นผู้ประเมินต้องเก็บรวบรวมข้อมูลตามขอบเขตและระยะเวลาที่กำหนดไว้ ผู้เก็บรวบรวมข้อมูลมีส่วนช่วยให้ข้อมูลที่รวบรวมได้มีความเที่ยงตรงและน่าเชื่อถือ

          5. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล ในขั้นนี้ผู้ประเมินจะต้องกำหนดวิธีการจัดระบบข้อมูล พิจารณาเลือกใช้สถิติในการวิเคราะห์ที่เหมาะสม แล้วจึงวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้น โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้

          6. ขั้นสรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลและรายงานผลการประเมิน ในขั้นนี้ผู้ประเมินจะสรุปและรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นต้น ผู้ประเมินจะต้องพิจารณารูปแบบของการรายงานผลว่าควรจะเป็นรูปแบบใด และการรายงานผลจะมุ่งเสนอข้อมูลที่บ่งชี้ให้เห็นว่าหลักสูตรมีคุณภาพหรือไม่ เพียงใด มีส่วนใดบ้างที่ควรแก้ไข ปรับปรุงหรือยกเลิก

          7. ขั้นนำผลที่ได้จากการประเมินไปพัฒนาหลักสูตรในโอกาสต่อไป


ประโยชน์ของการประเมินหลักสูตร

          1. ทำให้ทราบหลักสูตรที่สร้างหรือพัฒนาขึ้นนั้นมีจุดดีหรือจุดเสียตรงไหน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนปรับปรุงได้ถูกจุด ส่งผลให้หลักสูตรมีคุณภาพดียิ่งขึ้น

          2. สร้างความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจ และค่านิยมที่มีต่อโรงเรียนให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน

          3. ช่วยในการบริหารทางด้านวิชาการ ผู้บริหารจะได้รู้ว่าควรจะตัดสินใจและสนับสนุนช่วยเหลือ หรือบริหารทางด้านใดบ้าง

          4. ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจในความสำคัญของการศึกษา

          5. ส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโรงเรียนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้การเรียนการสอนนักเรียนได้ผลดี ด้วยความร่วมมือกันทั้งทางโรงเรียนและทางบ้าน

          6. ให้ผู้ปกครองทราบความเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อหาทางส่งเสริมและปรับปรุงแก้ไขร่วมกันระหว่างผู้ปกครองนักเรียนกับทางโรงเรียน

          7. ช่วยให้การประเมินผลเป็นระบบระเบียบ เพราะมีเครื่องมือ และหลักเกณฑ์ทำให้เป็นเหตุผลในทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น

          8. ช่วยชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของหลักสูตร

          9. ช่วยให้สามารถวางแผนการเรียนในอนาคตได้ ข้อมูลของการประเมินผลหลักสูตร ทำให้ทราบเป้าหมายแนวทางและขอบเขตในการดำเนินการจัดการศึกษาของโรงเรียน


ปัญหาในการประเมินหลักสูตร

          1. ปัญหาด้านการวางแผนการประเมินหลักสูตร การประเมินหลักสูตรมักไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ทำให้ขาดความละเอียดรอบคอบในการประเมินผล และไม่ครอบคลุมสิ่งที่ต้องการประเมิน

          2. ปัญหาด้านเวลา การกำหนดเวลาไม่เหมาะสมการประเมินหลักสูตร ไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนด ทำให้ได้ข้อมูลเนิ่นช้าไม่ทันต่อการนำมาปรับปรุงหลักสูตร

          3. ปัญหาด้านความเชี่ยวชาญของคณะกรรมการประเมินหลักสูตร คณะกรรมการประเมินหลักสูตรไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องหลักสูตรที่จะประเมิน หรือไม่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินผล ทำให้ผลการประเมินที่ได้ไม่น่าเชื่อถือ ขาดความละเอียดรอบคอบ ซึ่งมีผลทำให้การแก้ไขปรับปรุงปัญหาของหลักสูตรไม่ตรงประเด็น

         4. ปัญหาด้านความเที่ยงตรงของข้อมูล ข้อมูลที่ไม่ใช้ในการประเมินไม่เที่ยงตรงเนื่องจากผู้ประเมินมีความกลัวเกี่ยวกับผลการประเมิน จึงทำให้ไม่ได้เสนอข้อมูลตามสภาพความเป็นจริงหรือผู้ถูกประเมินกลัวว่าผลการประเมินออกมาไม่ดี จึงให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง

        5.ปัญหาด้านวิธีการประเมิน การประเมินหลักสูตรส่วนมากมาจากการประเมินในเชิงปริมาณ ทำให้ได้ข้อค้นพบที่ผิวเผินไม่ลึกซึ้ง จึงควรมีการประเมินผลที่ใช้วิธีการประเมินเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพควบคู่กัน เพื่อให้ได้ผลสมบูรณ์และมองเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

        6.ปัญหาด้านการประเมินหลักสูตรทั้งระบบ การประเมินหลักสูตรทั้งระบบมีการดำเนินงานน้อยมาก ส่วนมากมักจะประเมินผลเฉพาะด้าน เช่น ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในด้านวิชาการ (Academic Achievement) เป็นหลัก ทำให้ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

        7.ปัญหาด้านการประเมินหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการประเมินหลักสูตรหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมักไม่ประเมินหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง

        8.ปัญหาด้านเกณฑ์การประเมิน เกณฑ์การประเมินหลักสูตรไม่ชัดเจน ทำให้ผลการประเมินไม่เป็นที่ยอมรับ และไม่ได้นำผลไปใช้ในการปรับปรุงหลักสูตรอย่างจริงจัง

อ้างอิง

https://sites.google.com/site/viewnaiyana/kar-pramein-hlaksutr

วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

การประเมินหลักสูตร

ความหมายของการประเมินหลักสูตร

          การประเมินหลักสูตรหมายถึง กระบวนการการเก็บรวบรวมข้อมูลและการประมวลผลข้อมูลเพื่อนำมาตัดสินใจเกี่ยวกับคุณภาพทั้งประสิทธิภาพและประเมินผลของหลักสูตรรวมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการใช้หลักสูตรนั้นในอนาคต แนวคิดการประเมินหลักสูตรประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญ ดังนี้

          1.การประเมินเป็นการประเมินค่าของเรื่องที่ตัดสินใจ

          2.การตัดสินใจมีเกณฑ์ที่ชัดเจน

          3.เกณฑ์การตัดสินใจมีประเด็นที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับเนื้อหา

          4.เกณฑ์แสดงให้เห็นด้วยบุคคลและสอดคล้องกับแนวคิดของแบบจำลองเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ


จุดมุ่งหมายของการประเมินหลักสูตร

           ทาบา (Taba, 1962 : 310) ได้กล่าวไว้ว่า การประเมินหลักสูตรทำขึ้นเพื่อศึกษากระบวนการต่างๆ ที่กำหนดไว้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดบ้างที่สอดคล้องหรือขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของการศึกษาการประเมินดังกล่าวจะครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดของหลักสูตรและกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แก่ จุดประสงค์ ขอบเขตของเนื้อหาสาระ คุณภาพของผู้ใช้บริหารและผู้ใช้หลักสูตร สมรรถภาพของผู้เรียน ความสัมพันธ์ของวิชาต่างๆ การใช้สื่อและวัสดุการสอน ฯลฯ

การประเมินหลักสูตร ก่อน ระหว่าง และหลังการนำหลักสูตรไปใช้


ขั้นตอนการประเมินหลักสูตร
จุดมุ่งหมายการประเมิน
การประเมินหลักสูตรก่อนนำหลักสูตรไปใช้
การประเมินเอกสารและคุณค่าของหลักสูตร
การประเมินหลักสูตรระหว่างดำเนินการใช้หลักสูตร
การประเมินการนำไปใช้และผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตร
การประเมินหลักสูตรหลังนำหลักสูตรไปใช้
การประเมินระบบหลักสูตร


ขอบเขตในการประเมินหลักสูตร

                เซเลอร์และอเล็กซานเดอร์ (Saylor and Alexander, 1981 : 265) ได้กล่าวถึงขอบเขตของการประเมินหลักสูตรไว้ดังนี้

                1.การประเมินจุดมุ่งหมายของโรงเรียน จุดมุ่งหมายของหลักสูตร จุดมุ่งหมายเฉพาะวิชาและจุดมุ่งหมายในการสอน
                2.การประเมินผลโครงการการศึกษาของโรงเรียนทั้งหมด
                3.การประเมินผลการเลือกเนื้อหาและการจัดประสบการณ์เรียนและกิจกรรม
                4.การประเมินผลการสอบ
                5.การประเมินผลโครงการประเมินผล



หลักเกณฑ์การประเมินหลักสูตร

                1. มีจุดประสงค์ในการประเมินที่แน่นอน การประเมินผลหลักสูตรจะต้องกำหนดลงไปให้แน่นอนชัดเจนว่าประเมินอะไร
                2. มีการวัดที่เชื่อถือได้ โดยมีเครื่องมือและเกณฑ์การวัดซึ่งเป็นที่ยอมรับ
                3. ข้อมูลเป็นจริงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการประเมินผล ดังนั้น ข้อมูลจะต้องได้มาอย่างถูกต้องเชื่อถือได้และมากพอที่จะใช้เป็นตัวประเมินค่าหลักสูตรได้
                4. มีขอบเขตที่แน่นอนชัดเจนว่าเราต้องการประเมินในเรื่องใดแค่ไหน
                5. ประเด็นของเรื่องที่จะประเมินอยู่ในช่วงเวลาของความสนใจ
                6. การรวบรวมข้อมูลมาเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ และกำหนดเครื่องมือในการประเมินผล จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
                7. การวิเคราะห์ผลการประเมินต้องทำอย่างระมัดระวังรอบคอบ และให้มีความเที่ยงตรงในการพิจารณา
                8. การประเมินผลหลักสูตรควรใช้วิธีการหลายๆวิธี
                9. มีเอกภาพในการตัดสินผลการประเมิน
                10. ผลต่างๆที่ได้จากการประเมินควรนำไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตรทั้งในด้านการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในโอกาสต่อไป เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ดีและมีคุณค่าสูงสุดตามที่ต้องการ

อ้างอิง

https://sites.google.com/site/viewnaiyana/kar-pramein-hlaksutr

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

การนำหลักสูตรไปใช้ (ต่อ)

กิจกรรม/งานที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักสูตรไปใช้

          สงัด อุทรานันท์ (2532 : 263-271) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้มีงานหลัก 3 ประการ คือ

          1. งานบริหารและบริการหลักสูตร จะเกี่ยวข้องกับ งานเตรียมบุคลากร การจัดครูเข้าสอนตามหลักสูตร การบริหารและบริการวัสดุหลักสูตร การบริการหลักสูตรภายในโรงเรียน

          2. งานดำเนินการเรียนการสอนตามหลักสูตรประกอบด้วย การปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น การจัดทำแผนการสอน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

          3. งานสนับสนุนและส่งเสริมการใช้หลักสูตรประกอบด้วย การนิเทศและติดตามผลการใช้หลักสูตรและการตั้งศูนย์บริการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการใช้หลักสูตร

ขั้นตอนการนำหลักสูตรไปใช้

          1. ขั้นการเตรียมการใช้หลักสูตร

- การตรวจสอบลักษณะหลักสูตร

- การวางแผนและการทำโครงการศึกษานำร่อง

- การประเมินโครงการศึกษานำร่อง

- การประชาสัมพันธ์หลักสูตร

- การเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

           2. ขั้นดำเนินการใช้หลักสูตร

- การบริหารและบริการหลักสูตร

-การดำเนินการเรียนการสอนตามหลักสูตร

- การสนับสนุนและส่งเสริมการใช้หลักสูตร

            3. ขั้นติดตามและประเมินผล

- การนิเทศและการใช้หลักสูตรในโรงเรียน

- การติดตามและประเมินผลการใช้หลักสูตร

การประเมินหลักสูตร

          1. การตรวจสอบประสิทธิผลและความตกต่ำของคุณภาพของหลักสูตร

          2. การตรวจสอบหาเหตุที่ทำให้คุณภาพตกต่ำ

          3. แก้ไขและตรวจสอบประสิทธิผลของวิธีการที่นำมาแก้ไข

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักสูตรไปใช้

          บทบาทของหน่วยงานส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นในการนำหลักสูตรไปใช้

          1.การใช้หลักสูตรโดยหน่วยงานส่วนกลางที่มีบทบาทเต็มที่

          2.การใช้หลักสูตรโดยให้โรงเรียนมีบทบาทเต็มที่

          3.การใช้หลักสูตรโดยให้หน่วยงานส่วนกลางมีบทบาทเป็นส่วนใหญ่ และมีหน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ

          4.ใช้หลักสูตรโดยให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญ และหน่วยงานส่วนกลางเป็นผู้ให้การสนับสนุน

บทบาทของบุคลากรในการนำหลักสูตรไปใช้

          1.ผู้บริหารโรงเรียน

          2.หัวหน้าหมวดวิชาหรือสาขาวิชา

          3.ครูผู้สอน

 อ้างอิง

https://sites.google.com/site/viewnaiyana/karna-hlaksutr-pi-chi

วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

การนำหลักสูตรไปใช้


การนำหลักสูตรไปใช้

                การนำหลักสูตรไปใช้เป็นขั้นตอนสำคัญของการพัฒนาหลักสูตร เป็นกระบวนการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆในการนำหลักสูตรไปสู่โรงเรียนและจัดการเรียนการสอนเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้เป็นงานเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย ตั้งแต่ระดับกระทรวงศึกษาธิการ แต่ละฝ่ายมีความเกี่ยวข้องในแต่ละส่วนของการนำหลักสูตรไปใช้ เช่น หน่วยงานส่วนกลางเกี่ยวข้องในด้านการบริหารและบริหารหลักสูตรกับการนิเทศและติดตามผลการใช้หลักสูตร

                การนำหลักสูตรไปใช้จำต้องเป็นขั้นตอนตามลำดับ นับแต่ขั้นการวางแผน และเตรียมการในการประชาสัมพันธ์หลักสูตร และการเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ขั้นต่อมาคือการดำเนินการนำหลักสูตรไปใช้อย่างมีระบบ นับแต่การจัดครูเข้าสอนตามหลักสูตร การบริการวัสดุหลักสูตรและสิ่งอำนวยความสะดวกในการนำหลักสูตรไปใช้ และดำเนินการเรียนการสอนตามหลักสูตร

                ส่วนขั้นสุดท้ายต้องติดตามประเมินผลการนำหลักสูตรไปใช้ นับแต่การนิเทศติดตามผลการใช้หลักสูตร การติดตามและประเมินผลการใช้หลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญ ที่จะทำให้หลักสูตรที่สร้างขึ้นบรรลุผลตามจุดหมาย และเป็นกระบวนการที่ต้องได้รับความร่วมมือจากบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายๆฝ่าย และที่สำคัญที่สุดคือครูผู้สอน

ความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้

                 การนำหลักสูตรไปใช้ซึ่งเป็นขั้นตอนที่นำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติงานที่มีขอบเขตกว้างขวาง ทำให้การให้ความหมายของคำว่าการนำหลักสูตรไปใช้แตกต่างกันออกไป นักการศึกษาหลายท่านได้แสดงความคิดเห็นหรือให้คำนิยามของคำว่าการนำหลักสูตรไปใช้ ดังนี้

                 โบแชมป์ (Beauchamp,1975:164)ได้ให้ความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้ว่า การนำหลักสูตรไปใช้ หมายถึง การนำหลักสูตรไปปฏิบัติ โดยการะบวนการที่สำคัญที่สุด คือการแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน การจัดสภาพสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้ครูได้มีพัฒนาการเรียนการสอน

                  สันติ ธรรมบำรุง (2527.120)กล่าวว่า การนำหลักหลักสูตรไปใช้หมายถึงการที่ผู้บริหารโรงเรียนและครูนำโครงการของหลักสูตรที่เป็นรูปเล่มนั้นไปปฏิบัติให้บังเกิดผล รวมถึงการบริหารงานด้านวิชาการของโรงเรียนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ครูและนักเรียนสามารถสอนและเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                  จันทรา (Chandra, 1977:1) ได้ให้ความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้ว่าเป็นการทดลองใช้เนื้อหาวิชาวิธีการสอน เทคนิคการประเมิน การใช้อุปกรณ์การสอน แบบเรียนและทรัพยากรต่างๆให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียน โดยมีครูและผู้ร่างหลักสูตรเป็นผู้ปัญหาแล้วหาคำตอบให้ได้จากการประเมินผล

แนวคิดเกี่ยวกับการนำหลักสูตรไปใช้

                   โบแชมป์ (Beauchamp, 1975: 169) กล่าวว่า สิ่งแรกที่ควรทำคือ การจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียน ครูผู้นำหลักสูตรไปใช้มีหน้าที่แปลงหลักสูตรไปสู่การสอน โดยใช้หลักสูตรเป็นหลักในการพัฒนากลวิธีการสอน สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการนำหลักสูตรไปใช้ให้ได้ผลตามเป้าหมาย

                    1. ครูผู้สอนควรมีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตร

                    2. ผู้บริหารต้องเห็นความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จได้ ผู้นำที่สำคัญที่จะรับผิดชอบได้ดี คือครูใหญ่

หลักการที่สำคัญในการนำหลักสูตรไปใช้

                    1. จะต้องมีการวางแผนและเตรียมการ

                    2. จะต้องมีองค์คณะบุคคลทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่ประสานงานกัน

                    3. ดำเนินการอย่างเป็นระบบ

                    4. คำนึงถึงปัจจัยที่จะช่วยในการนำหลักสูตรไปใช้

                    5. ครูเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุด ดังนั้น ครูจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่และจริงจัง

                    6. จัดตั้งให้มีหน่วยงานที่มีผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อให้การสนับสนุนและพัฒนาครู

                    7. หน่วยงานและบุคคลในฝ่ายต่างๆ ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ

                    8. มีการติดตามและประเมินผลเป็นระยะๆ

อ้างอิง

https://sites.google.com/site/viewnaiyana/karna-hlaksutr-pi-chi

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น (ต่อ)

การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น 

          สงัด อุทรานันท์ (2532, หน้า 312-314) ได้เสนอวิธีการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น 2 ลักษณะ คือ

1. การประเมินหลักสูตรแกนกลางให้เข้ากับหลักสูตรท้องถิ่น เนื่องจากหลักสูตรที่ใช้ในประเทศไทยเป็นหลักสูตรในส่วนกลางและได้ใช้หลักสูตรเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศมีมาตรฐานขั้นต่ำทางด้านการศึกษาในระดับเดียวกัน การพัฒนาหลักสูตรเพื่อใช้กว้างขวางในระดับประเทศเช่นนี้จึงมีเนื้อหาสาระซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นอยู่บ้าง ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นทำการปรับเนื้อหาของหลักสูตรบางส่วนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของท้องถิ่นได้

2. การสร้างหลักสูตรย่อยในระดับท้องถิ่นขึ้นมาเสริมหลักสูตรแกนกลาง สำหรับนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน


กระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น

          อุดม เชยกีวงศ์ (2545, หน้า 33-37) กล่าวถึงกระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ดังนี้

1. การสำรวจสภาพปัญหาชุมชน เป็นการศึกษาความเป็นอยู่ของชุมชนและผู้เรียนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นอย่างแท้จริง

2. การวิเคราะห์สภาพปัญหาและกำหนดความต้องการ

3. การจัดทำผังหลักสูตร

4. การเขียนแผนการสอน

          4.1 การกำหนดหัวข้อเรื่อง
          4.2 การเขียนสาระสำคัญ
          4.3 การกำหนดขอบเขตเนื้อหา
          4.4 การกำหนดจุดประสงค์ทั่วไปหรือจุดประสงค์ปลายทาง
          4.5 การกำหนดจุดประสงค์เฉพาะหรือจุดประสงค์นำทาง
          4.6 การกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน
          4.7 การกำหนดสื่อการเรียนการสอน

5. การจัดการเรียนการสอน

6. การประเมินผล

          สงัด อุทรานันท์ (2532, หน้า 314-315) กล่าวถึงกระบวนการพัฒนาหลักสูตรในระดับท้องถิ่น ให้เป็นไปอย่างมีระบบและเป็นขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่ 1 จัดตั้งคณะทำงาน
ขั้นที่ 2 ศึกษาสภาพข้อมูลพื้นฐาน
ขั้นที่ 3 กำหนดจุดมุ่งหมายสำหรับหลักสูตรท้องถิ่น
ขั้นที่ 4 พิจารณาความเหมาะสมของหลักสูตรกลางกับสภาพของท้องถิ่น
ขั้นที่ 5 ดำเนินการเลือกเนื้อหาสาระของหลักสูตร และ/หรือจัดสร้างรายวิชาขึ้นมาใหม่
ขั้นที่ 6 ดำเนินการใช้หลักสูตร
ขั้นที่ 7 ประเมินผลการใช้หลักสูตร
ขั้นที่ 8 ทำการปรับปรุงแก้ไข

          นอกจากนี้ นิรมล ศตวุฒิ (2543, หน้า 119-120) กล่าวถึงกระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ตามขั้นตอน ดังนี้

1. จัดตั้งคณะทำงาน
2. ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน
3. กำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
4. เลือกและจัดเนื้อหาและประสบการณ์การเรียนรู้
5. กำหนดเกณฑ์การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
6. ตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรก่อนนำไปใช้
7. เสนอขออนุมัติใช้หลักสูตร
8. นำหลักสูตรไปใช้
9. ประเมินหลักสูตร

อ้างอิง

http://www.kroobannok.com/3731

วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น

หลักสูตรท้องถิ่นและการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น

           ความหมายของหลักสูตรท้องถิ่น มีนักการศึกษาได้ให้ความหมายของหลักสูตรท้องถิ่นพอสรุปได้ ดังนี้
           ใจทิพย์ เชื้อรัตนพงษ์ (2539, หน้า 107) กล่าวว่า หลักสูตรท้องถิ่น หมายถึง มวลประสบการณ์ที่สถานศึกษาหรือหน่วยงานและบุคคลในท้องถิ่นจัดให้แก่ผู้เรียนตามสภาพและความต้องการของ ท้องถิ่นนั้นๆ

           วิชัย ประสิทธิ์วุฒิเวชช์ (2542, หน้า 124) กล่าวว่า หลักสูตรท้องถิ่น คือ การนำหลักสูตร แกนกลางทั้งเอกสารหลักสูตรและเอกสารประกอบหลักสูตรที่พัฒนามาจากส่วนกลาง มาปรับขยายหรือเพิ่ม หรือสร้างหลักสูตรย่อยขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ และการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น

            อุดม เชยกีวงศ์ (2545,หน้า 6) กล่าวว่า หลักสูตรท้องถิ่น หมายถึง หลักสูตรที่สถานศึกษาหรือครูหรือผู้เรียนร่วมกันพัฒนาขึ้นเพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้นำไปใช้ในชีวิตจริงเรียนแล้วเกิดการเรียนรู้ สามารถนำไปใช้อย่างมีคุณภาพ และเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมอย่างมีความสุข

           สำลี ทองธิว (2543, หน้า 18 อ้างถึงใน ณัฐกานต์ เรือนคำ, 2546, หน้า 13) ได้กล่าวไว้ว่า หลักสูตรท้องถิ่น หมายถึง ดังนี้

1. เนื้อหาสาระ โครงสร้าง การจัดเวลา การบริหารหลักสูตร ซึ่งมาจากความต้องการของคนในท้องถิ่นเป็นสาระ แนวคิด หลักการที่คนในท้องถิ่นให้ความสำคัญ และมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดและการพัฒนาที่ยั่งยืนของท้องถิ่นนั้นๆ

2. เป็นหลักสูตรที่คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการสร้างอย่างเท่าเทียมกันครูและผู้บริหาร โรงเรียน

3. เป็นหลักสูตรที่คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการประเมินนักเรียน หรือค้นหาความรู้ทัศนะในการเป็นคนในชุมชน

4. เป็นหลักสูตรที่ผสมผสานวัฒนธรรมของท้องถิ่น ความเป็นท้องถิ่นกับความสามารถในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เป็นการพัฒนาท้องถิ่นลักษณะเพื่อความยั่งยืนของท้องถิ่นนั้นๆ

             จากความหมายที่ศึกษา สรุปตามกรอบความคิดการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นของผู้วิจัยได้ว่า หลักสูตรท้องถิ่น หมายถึง หลักสูตรที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น โดยการขยายสาระที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมตามสาระและมาตรฐานที่กำหนดไว้แล้วในสาระการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในชุมชน สังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณสมบัติอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ

              เหตุผลและความจำเป็นในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น สงัด อุทรานันท์ (2532, หน้า 311) ได้กล่าวถึงเหตุผลความจำเป็นในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นว่า หลักสูตรท้องถิ่นเป็นหลักสูตรที่มีความสอดคล้องกับหลักการของการพัฒนาหลักสูตรได้มากที่สุดด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้

1. ตามหลักการของหลักสูตรนั้น หลักสูตรที่สร้างขึ้นจำเป็นจะต้องมีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาและสนองความต้องการของสังคมชุมชนที่ใช้หลักสูตรนั้นๆ โดยเหตุนี้หากหลักสูตรที่สร้างขึ้นมีจุดมุ่งหมายสำหรับใช้ในชุมชนแห่งหนึ่งแห่งใดโดยเฉพาะก็ย่อมสามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมชุมชนนั้นได้มากที่สุด

2. ในการพัฒนาหลักสูตรได้มีการยอมรับความสำคัญของผู้ใช้และให้ผู้ใช้หลักสูตรมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร ในทางปฏิบัติหากหลักสูตรได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในระดับชุมชนที่ไม่กว้างขวางมากนักก็ย่อมสามารถเปิดโอกาสให้ผู้ใช้หลักสูตรได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรได้
ใจทิพย์ เชื้อรัตนพงษ์ (2539, หน้า 109-110) กล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นในการพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่น สรุปได้ดังนี้

1. หลักสูตรแกนกลางหรือหลักสูตรแม่บท ได้กำหนดจุดหมาย เนื้อหาสาระ และกิจกรรมอย่างกว้างๆ เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้คล้ายคลึงกัน ทำให้กระบวนการเรียนการสอนมุ่ง เนื้อหาสาระและประสบการณ์ที่เป็นหลักการทั่วไป ไม่สาสามารถประมวลรายละเอียดเกี่ยวกับสาระความรู้ตามสภาพของท้องถิ่นได้ จึงต้องมีการพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นนั้นๆ

2. การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิต เพื่อให้นำความรู้และประสบการณ์ไปพัฒนาท้องถิ่น ตลอดจนดำเนินชีวิตอยู่ในท้องถิ่นของตนอย่างเป็นสุข

3. การเรียนรู้ที่ดีควรจะเรียนรู้จากสิ่งที่ใกล้ตัวไปยังสิ่งที่ไกลตัว เพราะเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถดูดซับได้เร็วกว่า จึงควรมีหลักสูตรระดับท้องถิ่นเพื่อให้ผู้เรียนได้รู้ชีวิตจริงตามสภาพของท้องถิ่น ช่วยปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความรักและความผูกผันต่อท้องถิ่น

4. ทรัพยากรท้องถิ่น โดยเฉพาะภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยหลักสูตรท้องถิ่นสามารถเอาทรัพยากรท้องถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งหลายมาใช้ในการเรียนการสอนได้

             นอกจากนี้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ยังกำหนดให้สถานศึกษาสร้างหลักสูตรสถานศึกษาซึ่งเป็นหลักสูตรที่เกิดจากการที่สถานศึกษานำสภาพต่างๆ ที่เป็นปัญหา จุดเด่น เอกลักษณ์ของชุมชน สังคม ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อการเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ มากำหนดเป็นสาระและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนบนพื้นฐานของหลักสูตรแกนกลาง และเพิ่มเติมสาระและมาตรฐานการเรียนรู้หรือรายวิชาได้ตามความถนัด ความสนใจของผู้เรียน โดยความร่วมมือของ ทุกคนในโรงเรียนและชุมชน หลักสูตรสถานศึกษาที่มีคุณภาพต้องเป็นหลักสูตรที่พัฒนามาจากข้อมูลสารสนเทศด้านต่างๆของ สถานศึกษาและชุมชน สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมีการระดมทรัพยากรทั้งของ สถานศึกษาและชุมชนมาอย่างคุ้มค่า เต็มตามศักยภาพ (กรมวิชาการ, 2545 ค. หน้า 5-6)

              สรุปได้ว่า การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นมีความจำเป็นอย่างมากเพราะนอกจากภาระที่สถานศึกษาจะต้องจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาแล้ว การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรที่สถานศึกษาจะต้องจัดทำเพื่อให้กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงในชุมชนท้องถิ่นของตน

อ้างอิง

http://www.kroobannok.com/3731

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา (ต่อ)

           3.การจัดทำสาระของหลักสูตร

          1) กำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาค โดยวิเคราะห์จากมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นที่กำหนดไว้ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ มาจัดเป็นผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาค ที่ระบุถึงความรู้ ความสามารถของผู้เรียน และคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากการเรียนรู้ในแต่ละปีหรือภาคนั้น
          การกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาคของสาระการเรียนรู้ให้สถานศึกษากำหนดเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม สอดคล้องกับความสามารถ ความถนัด ความสนใจ และสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน

           2) กำหนดสาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาค โดยวิเคราะห็จากผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาคที่กำหนดไว้ในข้อ 1) และให้สอดคล้องกับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น รวมทั้งสอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่นและชุมชน

           3) กำหนดเวลาและจำนวนหน่วยกิต สำหรับสาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาค ดังนี้

- ช่วงชั้น ป.1-3 ป.4-6 และ ม.1-3 กำหนดสาระการเรียนรู้เป็นรายปี และกำหนดจำนวนคาบเวลาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและสาระการเรียนรู้นั้น

- ช่วงชั้น ม.4-6 กำหนดสาระการเรียนรู้เป็นรายภาค และกำหนดจำนวนหน่วยกิตให้เหมาะสม สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและสาระการเรียนรู้

          ในการกำหนดจำนวนหน่วยกิตของสาระการเรียนรู้รายภาคสำหรับช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ให้เกณฑ์การพิจารณาที่ใช้เวลาจัดการเรียนรู้ 40 ชั่วโมงต่อภาคเรียน มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต
           สำหรับสาระการเรียนรู้ที่สถานศึกษาจัดทำเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นวิชาเฉพาะของสายอาชีพ หรือโปรแกรมเฉพาะทางอื่น ๆ ใช้เกณฑ์การพิจารณา คือ สาระการเรียนรู้ที่ใช้เวลาจัดการเรียนรู้ระหว่าง 40-60 ชั่วโมงต่อภาคเรียน มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตทั้งนี้สถานศึกษากำหนดได้ตามความเหมาะสมและใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน

          4) จัดทำคำอธิบายรายวิชา โดยการนำเอาผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาค สาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาค รวมทั้งเวลาและจำนวนหน่วยกิตที่กำหนด ตามข้อ 1) 2) และ 3) มาเขียนเป็นคำอธิบายรายวิชา โดยให้ประกอบด้วยชื่อรายวิชา จำนวนเวลาหรือจำนวนหน่วยกิต ผลการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้ของรายวิชานั้น ๆ ซึ่งสามารถเขียนคำอธิบายรายวิชาได้หลายรูปแบบ เช่น

รูปแบบที่ 1 เขียนเป็นความเรียงเสนอภาพรวมของผลการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้ทั้ง 3 ด้าน

รูปแบบที่ 2 เขียนแยกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
-          ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง : เขียนเป็นความเรียง สรุปภาพรวมของผลการเรียนทั้ง 3 ด้าน
-          สาระการเรียนรู้ : เขียนเป็นความเรียงของขอบข่ายเนื้อหา

รูปแบบที่ 3 เขียนเป็นความเรียง ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
-          ขอบข่ายกิจกรรมที่กำหนดกว้าง ๆ สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ของรายวิชา
-          ขอบข่ายเนื้อหาที่สอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ของรายวิชา
-          ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียนอย่างกว้าง ๆ

รูปแบบที่ 4 เขียนเป็นความเรียง ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ
-          จุดประสงค์ของรายวิชาที่สอดคล้องกับผลการเรียนรู้รายวิชา
-          ขอบข่ายสาระการเรียนรู้
-          กิจกรรมการเรียนรู้
-          วิธีการวัดและประเมินผล

รูปแบบที่ 5 เขียนแยกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
-          ผลการเรียนรู้ : เขียนให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน เป็นข้อ ๆ โดยไม่แยกด้าน

           สำหรับคำอธิบายรายวิชามีแนวทางการกำหนดดังนี้ ชื่อรายวิชาของสาระการเรียนรู้ ให้ใช้ตามชื่อกลุ่มสาระการเรียนรู้ ส่วนชื่อรายวิชาที่สถานศึกษาจัดทำเพิ่มเติมสามารถกำหนดตามความเหมาะสม ทั้งนี้ต้องสื่อความหมายได้ชัดเจน มีความสอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในรายวิชานั้น ๆ

           5) จัดทำหน่วยการเรียนรู้ โดยการนำเอาสาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาคที่กำหนดไว้ไปบูรณาการจัดทำเป็นหน่วยการเรียนรู้ย่อย ๆ เพื่อความสะดวกในการจัดการเรียนรู้และผู้เรียนได้เรียนรู้ในลักษณะองค์รวม หน่วยการเรียนรู้ แต่ละหน่วยประกอบด้วย ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง สาระการเรียนรู้ และจำนวนเวลาสำหรับการจัดการเรียนรู้ ซึ่งเมื่อเรียนครบทุกหน่วยย่อยแล้ว ผู้เรียนสามารถบรรลุตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาคของทุกวิชา

          ในการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ อาจบูรณาการทั้งภายในและระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือเป็นการบูรณาการเฉพาะเรื่องตามลักษณะสาระการเรียนรู้ หรือเป็นการบูรณาการที่สอดคล้องกับวิถีชีวติของผู้เรียน โดยพิจารณาจากมาตรฐานการเรียนรู้ที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับการจัดการเรียนรู้สำหรับหน่วยการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้นสถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติโครงงานอย่างน้อย 1 โครงงาน

          6) จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ โดยวิเคราะห์จากคำอธิบายรายวิชา รายปี หรือรายภาค แต่ละหน่วยการเรียนรู้ที่จัดทำ กำหนดเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียนและผู้สอน

            4.การออกแบบการเรียนรู้

            4.1  การจัดการเรียนการสอน

            การเรียนรู้ในสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ มีกระบวนการและวิธีการที่หลากหลาย ผู้สอนต้องคำนึงถึงพัฒนาการทางด้านร่างกาย และสติปัญญา วิธีการเรียนรู้ ความสนใจ และความสามารถของผู้เรียนเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น ควรใช้รูปแบบ / วิธีการที่หลากหลาย เน้นการจัดการเรียนการสอนตามสภาพจริง การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ร่วมกัน การเรียนรู้จากธรรมชาติ การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และการเรียนแบบบูรณาการ การใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ การเรียนรู้คู่คุณธรรม ทั้งนี้ ต้องพยายามนำกระบวนการการจัดการกระบวนการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม กระบวนการคิดและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปสอดแทรกในการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ เนื้อหาและกระบวนการต่าง ๆ ข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะองค์รวม การบูรณาการเป็นการกำหนดเป้าหมายการเรียนร่วมกัน ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยนำกระบวนการเรียนรู้จากกลุ่มสาระเดียวกัน หรือต่างกลุ่มสาระการเรียนรู้มาบูรณาการในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งจัดได้หลายลักษณะ เช่น

                        1. การบูรณาการแบบผู้สอนคนเดียว ผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้โดยเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ กับหัวข้อเรื่องที่สอดคล้องกับชีวิตจริงหรือสาระที่กำหนดขึ้นมา เช่น เรื่อง สิ่งแวดล้อม น้ำ เป็นต้น ผู้สอนสามารถเชื่อมโยงสาระ และกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มสาระต่าง ๆ เช่น การอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ การคิดวิเคราะห์ต่าง ๆ ทำให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะและกระบวนการเรียนรู้ไปแสวงหาความรู้ความจริงจากหัวข้อเรื่องที่กำหนด

                        2. การบูรณาการแบบคู่ขนาด มีผู้สอนตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันจัดการเรียนการสอนโดยอาจยึดหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วบูรณาการเชื่อมโยงแบบคู่ขนาน เช่น ผู้สอนคนหนึ่งสอนวิทยาศาสตร์ เรื่องเงา ผู้สอนอีกคนอาจสอนคณิตศาสตร์ เรื่องการวัดระยะทาง โดยการวัดเงา คิดคำนวณในเรื่องเงาในช่วงเวลาต่าง ๆ จัดทำกราฟของเงาในระยะต่าง ๆ หรืออีกคนหนึ่งอาจให้ผู้เรียนรู้ศิลปะเรื่องเทคนิคการวาดรูปที่มีเงา

                        3. การบูรณาการแบบสหวิทยาการ การบูรณาการในลักษณะนี้นำเนื้อหาจากหลายกลุ่มสาระมาเชื่องโยงเพื่อจัดการเรียนรู้ ซึ่งโดยทั่วไปผู้สอนมักจัดการเรียนการสอนแยกตามรายวิชาหรือกลุ่มวิชา แต่ในบางเรื่อง ผู้สอนจัดการเรียนการสอนร่วมกันในเรื่องเดียวกัน เช่น เรื่องวันสิ่งแวดล้อมของชาติ ผู้สอนภาษาไทยจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนรู้ภาษา คำศัพท์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผู้สอนวิทยาศาสตร์จัดกิจกรรมค้นคว้าเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผู้สอนสังคมศึกษาให้ผู้เรียนค้นคว้าหรือทำกิจกรรมชมรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และครู ผู้สอนสุขศึกษาอาจจัดให้จัดทำกิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น

                        4. การบูรณาการแบบโครงการ ผู้สอนสามารถจัดการเรียนการสอนโดยบูรณาการเป็นโครงการ โดยผู้เรียนและครูผู้สอนร่วมกันสร้างสรรค์โครงการขึ้น โดยใช้เวลาการเรียนต่อเนื่องกันได้หลายชั่วโมง ด้วยการนำเอาจำนวนชั่วโมงของวิชาต่าง ๆ ที่ครู ผู้สอนเคยสอนแยกกันนั้นมาร่วมเป็นเรื่องเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน ในลักษณะของการสอนเป็นทีม เรียนเป็นทีมในกรณีที่ต้องการเน้นทักษะบางเรื่องเป็นพิเศษ ครู ผู้สอนสามารถแยกกันสอนได้ เช่น กิจกรรมเข้าค่ายดนตรี กิจกรรมเข้าค่ายภาษาอังกฤษ กิจกรรมเข้าค่ายศิลปะ เป็นต้น

           4.2  สื่อการเรียนรู้

           การจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรสถานศึกษามุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียน เรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งมีความยืดหยุ่น สนองความต้องการของผู้เรียน ชุมชนสังคมและประเทศชาติ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่และเรียนรู้ได้จากสื่อการเรียนรู้ และแหล่งการเรียนรู้ทุกประเภท รวมทั้งจากเครือข่ายการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ชุมชน และแหล่งอื่น ๆ เน้นสื่อที่ผู้เรียน และผู้สอนใช้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียน ผู้สอนสามารถจัดทำและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ขึ้นเอง หรือนำสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว และในระบบสารสนเทศมาใช้ในการเรียนรู้ โดยใช้วิจารณญาณในการเลือกใช้สื่อ และแหล่งความรู้ โดยเฉพาะหนังสือเรียน ควรมีเนื้อหาสาระครอบคลุมตลอดช่วงชั้นสื่อ สิ่งพิมพ์ควรจัดให้มีอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ควรให้ผู้เรียนสามารถยืมได้จากศูนย์สื่อ หรือห้องสมุดของสถานศึกษา

           4.3  การวัดผลและประเมินผล

           การวัดและประเมินผลการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ให้ผู้สอนใช้พัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพราะจะช่วยให้ได้ข้อมูลสารสนเทศที่แสดงพัฒนาการ ความก้าวหน้า และความสำเร็จทางการเรียนของผู้เรียน รวมทั้ง ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาและเรียนรู้อย่างเต็มตามศักยภาพ
สถานศึกษาในฐานะผู้รับผิดชอบจัดการศึกษา จะต้องจัดทำ หลักเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติในการวัดและประเมินผลการเรียนของสถานศึกษา เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถือปฏิบัติร่วมกัน และเป็นไปในมาตรฐานเดียวกันสถานศึกษาต้องมีผลการเรียนรู้ของผู้เรียนจากการวัดและประเมิน ทั้งในระดับชั้นเรียนระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับชาติ ตลอดจนการประเมินภายนอก เพื่อใช้เป็นข้อมูลสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับคุณภาพของผู้เรียนแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและนอกสถานศึกษา
            การวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียน มีจุดหมายสำคัญของการประเมินระดับชั้นเรียน คือ มุ่งหาคำตอบว่าผู้เรียนมีความก้าวหน้าทั้งด้านความรู้ ทักษะกระบวนการคุณธรรม และค่านิยมอันพึงประสงค์ อันเป็นผลเนื่องจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้หรือไม่ / เพียงใด ดังนั้น การวัด และประเมิน จึงต้องใช้วิธีการที่หลากหลายเน้นการปฏิบัติให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสาระการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ และสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปในกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยประเมินความประพฤติพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรม และผลงานจากโครงงานหรือแฟ้มสะสมงาน ผู้ใช้ ผลการประเมินในระดับชั้นเรียนที่สำคัญ คือ ตัวผู้เรียน ผู้สอนและพ่อแม่ ผู้ปกครอง จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย วิธีการ และค้นหาข้อมูลเกณฑ์ต่าง ๆ ที่จะทำให้สะท้อนให้เห็นภาพสัมฤทธิ์ผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้เรียนจะทราบระดับความก้าวหน้าความสำเร็จของตน ครูผู้สอน จะเข้าใจความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน แต่ละกลุ่มสามารถให้ระดับคะแนนหรือจัดกลุ่มผู้เรียน รวมทั้งประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของตนเองได้ ขณะที่พ่อแม่ ผู้ปกครองจะได้ทราบระดับความสำเร็จของผู้เรียน
            สถานศึกษาเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษา
            การประเมินผลระดับสถานศึกษา เป็นการประเมินเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้เป็นรายชั้นปี และช่วงชั้นสถานศึกษานำข้อมูลที่ได้นี้ไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนและคุณภาพของผู้เรียนให้เป็นไปตามมาตรฐานการเรียนรู้ รวมทั้งนำผลการประเมินรายช่วงชั้นไปพิจารณาตัดสินการเลื่อนช่วงชั้น กรณีผู้เรียนไม่ผ่านมาตรฐานการเรียนรู้ของกลุ่มสาระต่าง ๆ สถานศึกษาต้องจัดให้มีการเรียน การสอนซ่อมเสริม และจัดให้มีการประเมินผลการเรียนรู้ด้วย

            5. การออกแบบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

            หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดให้มีสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่ม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นกิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถของตนเองตามศักยภาพ มุ่งเน้นเพิ่มเติมจากกิจกรรมที่ได้จัดให้เรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ทั้ง 8 กลุ่ม การเข้าร่วมและปฏิบัติกิจกรรมที่เหมาะสมร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขกับกิจกรรมที่เลือกด้วยตนเองตามความถนัด และความสนใจอย่างแท้จริง การพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ให้ครบทุกด้านทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม โดยอาจจัดเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสนองนโยบายในการสร้างเยาวชนของชาติให้เป็นผู้มีศีลธรรม จริยธรรม มีระเบียบวินัย และมีคุณภาพเพื่อพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งสถานศึกษาจะต้องดำเนินการอย่างมีเป้าหมาย มีรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
            กิจกรรมแนะแนว เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของผู้เรียนให้เหมาะสมตามความแตกต่างระหว่างบุคคล สามารถค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตน เสริมสร้างทักษะชีวิต วุฒิภาวะทางอารมณ์ การเรียนรู้ในเชิงพหุปัญญา และการสร้างสัมพันธภาพที่ดี ซึ่งผู้สอนทุกคนต้องทำหน้าที่แนะแนวให้คำปรึกษาด้านชีวิตการศึกษาต่อและการพัฒนาตนเองสู่โลกอาชีพและการมีงานทำ

            กิจกรรมนักเรียน เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความสมัครใจของผู้เรียนมุ่งพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์เพิ่มเติมจากกิจกรรมในกลุ่มสาระ เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ปัญหา ส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียนอย่างเต็มที่ รวมถึงกิจกรรมที่มุ่งปลูกฝังความมีระเบียบวินัย รับผิดชอบ รู้สิทธิและหน้าที่ของตนเอง แบ่งตามความแตกต่างระหว่างกิจกรรมได้เป็น 2 ลักษณะ

            1. กิจกรรมพัฒนาความถนัด ความสนใจ ตามความต้องการของผู้เรียนเป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการเติมเต็มความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ของผู้เรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อการค้นพบความถนัดความสนใจของตนเอง และพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ ตลอดจนการพัฒนาทักษะของสังคม และปลูกฝังจิตสำนึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม

            2. กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด และผู้บำเพ็ญประโยชน์ เป็นกิจกรรมที่มุ่งปลูกฝัง ระเบียบวินัย กฎเกณฑ์ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสภาพชีวิตต่าง ๆ นำไปสู่พื้นฐานการทำประโยชน์ให้แก่สังคม และวิถีชีวิตในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งกระบวนการจัดให้เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ ยุวกาชาด สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์และกรมการรักษาดินแดน
            การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โรงเรียนอาจจัดทำได้หลายรูปแบบ เช่น
            1. จัดแบ่งสัดส่วนเวลาของกิจกรรมต่าง ๆ แล้วกำหนดเวลาเรียนในตารางเวลาเรียน เช่นเดียวกันกับกลุ่มสาระอีก 8 กลุ่มสาระ
            2. จัดแบ่งสัดส่วนเวลาของกิจกรรมต่าง ๆ แล้วกำหนดเวลาเรียนบางส่วนในตารางเวลาเรียนปกติ และบางส่วนเรียนนอกเวลา
            3. จัดกิจกรรมต่าง ๆ ไปด้วยกัน โดยวางแผนร่วมกันของกลุ่มอาจารย์ที่ปรึกษากิจกรรม กำหนดเวลาเรียนบางส่วนในตารางเวลาเรียนปกติ บางส่วนเรียนนอกเวลา ฯลฯ
            สถานศึกษา ต้องจัดให้ผู้เรียนทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมให้เหมาะสมกับวัยวุฒิภาวะและความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน

           6. กำหนดรูปแบบ วิธีการ เกณฑ์การตัดสิน เอกสารหลักฐานการศึกษา

            เกณฑ์การผ่านช่วงชั้นและการจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
            การจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 12 ปี ผู้เรียนสามารถจบการศึกษาได้ 2 ช่วง คือ จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ถือว่า จบการศึกษาภาคบังคับ และจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งถือว่า จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน

          ผู้เรียนผ่านการศึกษาแต่ละช่วงชั้น ตามเกณฑ์ ดังนี้

            เกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นที่ 1,2 และ 3 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 (จบการศึกษาภาคบังคับ)

            1. ผู้เรียนต้องเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม และได้รับการตัดสินผลการเรียนให้ได้ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด

            2. ผู้เรียนต้องผ่านการประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์ เขียน ให้ได้ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด

            3. ผู้เรียนต้องผ่านการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด

            4. ผู้เรียนต้องเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด

            เกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 (จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน)

            1. ผู้เรียนต้องเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม และได้หน่วยกิตครบตามหลักสูตรที่สถานศึกษากำหนด และได้รับการตัดสินผลการเรียนให้ได้ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด

            2. ผู้เรียนต้องผ่านการประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์ เขียน ให้ได้ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด

            3. ผู้เรียนต้องผ่านการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด

            4. ผู้เรียนต้องเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด

            เอกสารหลักฐานการศึกษา
            สถานศึกษาต้องพิจารณาจัดทำเอกสารการประเมินผลการเรียนเพื่อใช้ประกอบการดำเนินงานด้านการวัดและประเมินผลการเรียนตามที่เห็นสมควร เช่น เอกสารแสดงผลการเรียนรู้ของผู้เรียน แบบบันทึกผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในรายวิชาต่าง ๆ แบบรายงานการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นรายบุคคล ระเบียนสะสมแสดงพัฒนาการด้านต่าง ๆ และแบบแสดงผลการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เป็นต้น

             7. พัฒนาระบบการส่งเสริมสนับสนุน

            ในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพตามจุดหมายของหลักสูตร สถานศึกษาควรพัฒนาระบบการส่งเสริม สนับสนุนต่าง ๆ ที่จะเอื้อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพในเรื่องต่อไปนี้ คือ

             1.การพัฒนากระบวนการแนะแนว

             สถานศึกษาต้องพัฒนาระบบแนะแนวที่มุ่งการพัฒนาคนให้มีความรู้อย่างลึกซึ้ง  ประเมินการจัดการที่มีคุณภาพ โดยกำหนดพันธกิจระหว่างบ้าน ชุมชน และสถานศึกษาที่เน้นความร่วมมือกันระหว่างบ้าน ในฐานะแหล่งเรียนรู้แรกของผู้เรียน ชุมชนจะเป็นเครือข่ายที่สำคัญของการแนะแนว ช่วยป้องกัน แก้ไข ปัญหาของสังคม สร้างเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยข้อมูลสารสนเทศ และพัฒนาเครือข่ายแนะแนวให้เข้มแข็ง เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพสูงสุด ทั้งด้านวิชาการ ด้านบุคลากร และด้านบริหารทั่วไป

             2.การพัฒนาแหล่งการเรียนรู้และห้องสมุด

             สถานศึกษาจำเป็นต้อง ส่งเสริม สนับสนุนให้มีแหล่งเรียนรู้ นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียนให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้า เพิ่มพูน ประสบการณ์และความชำนาญโดยเฉพาะห้องสมุดนั้น  เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญยิ่ง เพราะจะเป็นแหล่งที่รวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนโดยตรง ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องสมุดที่มีความหรูหราหรือใหญ่โต อาจเป็นเพียงมุมหนังสือ เพื่อการศึกษาค้นคว้าก็ใช้ได้ นอกจากนี้ต้องสนับสนุนให้มีแหล่งการเรียนรู้ในรูปของคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีต่าง ๆ

             3.การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพ

             สถานศึกษาต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สอนนำกระบวนการวิจัยมาผสมผสานหรือบูรณาการใช้ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน และเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ สามารถใช้กระบวนการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ผลการวิจัยจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาหรือพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้เป็นอย่างดีทั้งนี้ เน้นการวิจัยทั้งในห้องเรียน และการวิจัยในภาพรวมของสถานศึกษา

            4.เครือข่ายวิชาการ

            สถานศึกษาต้องพัฒนา และส่งเสริม สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ ทางวิชาการ จากครูในสถานศึกษาเดียวกัน และในสถานศึกษาอื่น ๆ ตลอดจนชมรมวิชาการต่าง ๆ ในรูปของเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั้งจากบุคคลต่าง ๆ และจากสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ครูมีความรู้ และแนวคิดใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ

           8. การเรียบเรียงเป็นหลักสูตรสถานศึกษา

            จากกระบวนการดังกล่าวข้างต้น สถานศึกษาจะมีรายละเอียดที่ครอบคลุมภาระงานการจัดการศึกษาทุกด้าน ในขั้นนี้ จึงเป็นการวิเคราะห์และเรียบเรียง เพื่อให้เป็นหลักสูตรสถานศึกษาที่สมบูรณ์
            ในการกำหนดหลักสูตรสถานศึกษา ควรคำนึงว่าสิ่งที่ปรากฎในหลักสูตรเป็นสิ่งที่สถานศึกษาจะต้องดำเนินการ ตั้งแต่ต้น คือ การกำหนดวิสัยทัศน์ จนกระทั่งการนำหลักสูตรสู่ห้องเรียน คือ การจัดทำแผนการเรียนรู้ รวมทั้งการบริหารจัดการหลักสูตรให้ประสบความสำเร็จ ใช้ศักยภาพทั้งของสถานศึกษาและชุมชนเต็มที่ เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง ประการสำคัญ หลักสูตรสถานศึกษาจะต้องสามารถบอกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและบุคคลในชุมชนทราบอย่างชัดเจนว่า จะจัดการศึกษาอย่างไรในสถานศึกษาดังนั้น เอกสารหลักสูตรสถานศึกษาอาจมีหลายเล่ม ซึ่งในเล่มแรกควรเป็นเล่มที่กำหนดภาพรวม และมีเล่มอื่น ๆ อีก ตามความเหมาะสม ซึ่งอาจแยกเล่มตามกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือหน่วยการเรียนรู้

            การเรียบเรียง เป็นหลักสูตรสถานศึกษา ควรประกอบด้วย ส่วนสำคัญดังต่อไปนี้

1)      วิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมาย
2)      คุณลักษณะอันพึงประสงค์
3)      โครงสร้างหลักสูตร
4)      รายวิชาตามกลุ่มสาระการเรียนรู้
5)      กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
6)      การจัดการเรียนรู้และการส่งเสริมการเรียนรู้
7)      การวัดและประเมินผล
8)      การบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา
9)      อื่น ๆ

           ทั้งนี้ สถานศึกษาอาจกำหนดหัวข้อเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
เมื่อสถานศึกษาจัดทำร่างหลักสูตรสถานศึกษาตามหัวข้อดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว สถานศึกษาจะต้องตรวจสอบแต่ละหัวข้า เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 รวมทั้ง สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบท / สภาพของสถานศึกษา จากนั้น นำร่างหลักสูตรดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ความเห็นชอบ

อ้างอิง

http://elearning.aru.ac.th/1021205/edu01/topic1/linkfile/print.htm

https://sites.google.com/site/orathaieducation/hlaksutr-laea-kar-cadkar-reiyn-ru/kar-phathna-hlaksutr-sthan-suksa

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558

ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา

กระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
            หลักสูตรจะต้องสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจและเปลี่ยนไปตามธรรมชาติของการศึกษา ผู้สอนต้องปรับปรุงกระบวนการสอนและประเมินกระบวนการสอนของตน เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมการศึกษาจะเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ถ้าหลักสูตรมีการปรับปรุง ให้เป็นไปตามความต้องการและความจำเป็นตลอดเวลา
            การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา เป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญในการบริหารจัดการหลักสูตร ซึ่งภารกิจในการบริหารจัดการหลักสูตร ประกอบด้วย
            ภารกิจที่ 1          การเตรียมความพร้อม
            ภารกิจที่ 2          การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
            ภารกิจที่ 3          การวางแผนดำเนินการใช้หลักสูตร
            ภารกิจที่ 4          การดำเนินการบริหารหลักสูตร (ใช้หลักสูตร)
            ภารกิจที่ 5          การนิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผล
            ภารกิจที่ 6          การสรุปผลการดำเนินงาน
            ภารกิจที่ 7          การปรับปรุงพัฒนา
การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ที่ข้อควรคำนึง 2 ประการคือ
                     1. หลักสูตรสถานศึกษาต้องเชื่อมโยงกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 ซึ่งเป็นกรอบสำคัญของการจัดการศึกษาสำหรับสถานศึกษาทั่วประเทศ ส่วนสำคัญที่ต้องยึดถือมาตรฐานการเรียนรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ และมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวเป็นคุณภาพที่เกิดกับผู้เรียนทั่วประเทศ หลังจากที่จบจากการศึกษาแต่ละช่วงชั้นหรือจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                     2. หลักสูตรสถานศึกษาจะต้องพัฒนาผู้เรียนให้เต็มศักยภาพ ซึ่งจะเป็นส่วนที่เพิ่มเติมจากข้อ 1 หลักสูตรจะต้องตอบสนองต่อความถนัด ความสนใจ และความต้องการของผู้เรียน ความแตกต่างของแต่ละบุคคลเป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาถึงขีดสูงสุด
                     สถานศึกษาสามารถออกแบบหลักสูตรของตนเองได้อย่างอิสระ โดยยึดนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลักวิชาการที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา มีความถูกต้องเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ชุมชนและท้องถิ่นและมีความเป็นไปได้
แผนภูมิกระบวนการการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
ที่มา: http://elearning.aru.ac.th/1021205/edu01/topic1/linkfile/print.htm
 แนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
            เมื่อเตรียมความพร้อมทุก ๆ ด้านแล้ว จึงจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา แนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา มีดังนี้
           1.การกำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมาย
สถานศึกษาจำเป็นต้องกำหนดวิสัยทัศน์เพื่อมองอนาคตว่า โลกและสังคมรอบ ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และสถานศึกษาจะต้องปรับตัว ปรับหลักสูตรอย่างไร จึงจะพัฒนาผู้เรียนให้เหมาะสมกับยุคสมัย ในการสร้างหลักสูตรสถานศึกษา สถานศึกษาต้องมีวิสัยทัศน์ ซึ่งทำได้โดยอาศัยความร่วมมือของชุมชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ผู้เรียน ภาคธุรกิจ ภาครัฐในชุมชน ร่วมกันกับคณะกรรมการสถานศึกษาแสดงความประสงค์อันสูงส่งหรือวิสัยทัศน์ที่ปรารถนาให้สถานศึกษาเป็นสถาบันพัฒนาผู้เรียนที่มีพันธกิจหรือภาระหน้าที่ร่วมกันในการกำหนดงานหลักที่สำคัญ ๆ ของสถานศึกษาพร้อมด้วยเป้าหมาย แผนปฏิบัติการและการติดตามผล ตลอดจนจัดทำรายงาน แจ้งสาธารณชน และส่งผลย้อนกลับให้สถานศึกษา เพื่อการปฏิบัติงานที่เหมาะสมตามหลักสูตรของสถานศึกษา และจุดหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติที่กำหนดไว้
          กระบวนการสร้างวิสัยทัศน์ โดยอาศัยบุคคลต่าง ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมนี้ เป็นกระบวนการที่มีพลังผลักดันให้แผนกลยุทธ์ที่สถานศึกษาสร้างขึ้นดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีทิศทางก่อให้เกิดเจตคติในทางที่สร้างสรรค์ดีงานแก่สังคมของสถานศึกษา มีระบบและหน่วยสนับสนุนในการปฏิบัติงานเกิดขึ้นอย่างเป็นเครือข่าย เพียบพร้อม เช่น ระบบคุณภาพระบบหลักสูตร สาระการเรียนรู้ การเรียนการสอน สื่อการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล การติดตาม การรายงานฐานข้อมูลการเรียนรู้ การวิจัยแบบมีส่วนร่วม มีระบบสนับสนุนครูอาจารย์ เป็นต้น กระบวนการสร้างวิสัยทัศน์ด้วยวิธี ดังกล่าวนี้จะนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตร การกำหนดสาระการเรียนรู้หรือหัวข้อเรื่องในท้องถิ่นสนองตอบความต้องการของชุมชน
                        วิสัยทัศน์
                        - เป็นเจตนารมณ์ อุดมการณ์ หลักการ ความเชื่อ อนาคตที่พึงประสงค์ เป็นการคิดไปข้างหน้า มีเอกลักษณ์
                        - สามารถสร้างศรัทธา และจุดประกายความคิดในสภาพการพัฒนาสูงสุด
                        ภารกิจ
                        แสดงวิธีดำเนินการของสถานศึกษาเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์และนำไปสู่การวางแผนปฏิบัติต่อไป
                        เป้าหมาย
                        กำหนดเป็นความคาดหวังด้านคุณภาพที่เกิดกับผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่สถานศึกษากำหนดและสอดคล้องกับจุดหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                        นอกจากนั้น สถานศึกษาต้องร่วมกับชุมชน กำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนด้านคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม
                        คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่สถานศึกษาจะกำหนดเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ นั้น สามารถกำหนดขึ้นได้ตามความต้องการ โดยให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความจำเป็นที่จะต้องมีการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมดังกล่าว ให้แก่ผู้เรียน เพิ่มจากที่กำหนดไว้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ
                        ในแต่ละภาคเรียนหรือปีการศึกษา ครูผู้สอนต้องจัดให้มีการวัดและประเมินผลด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน โดยเป็นการประเมินเชิงวินิจฉัยเพื่อปรับปรุงพัฒนาและการส่งต่อ ทั้งนี้ ควรประสานสัมพันธ์กับผู้เรียน ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องร่วมกันประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์รายปี หรือรายภาค
          2. การจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา
จากวิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าหมาย ที่สถานศึกษาได้กำหนดไว้ สถานศึกษาจะต้องจัดทำโครงสร้างหลักสูตร ซึ่งกำหนดสาระการเรียนรู้ และเวลาเรียนไว้อย่างชัดเจน เพื่อสถานศึกษาจะนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนด
           โครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา ประกอบด้วย
·       สาระการเรียนรู้ / ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายวิชา หน่วยการเรียนรู้ ครบ 8 กลุ่มสาระ รายภาคหรือปี ทั้งที่กำหนดไว้ในหลักสูตรและเพิ่มเติมตามความถนัด ความสนใจ ความต้องการของผู้เรียน ชุมชน และท้องถิ่น
·       มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทุกภาคเรียน
·       กำหนดเวลาแต่ละกลุ่มสาระ หน่วยการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนรายภาคหรือปี
อ้างอิง
http://elearning.aru.ac.th/1021205/edu01/topic1/linkfile/print.htm
https://sites.google.com/site/orathaieducation/hlaksutr-laea-kar-cadkar-reiyn-ru/kar-phathna-hlaksutr-sthan-suksa

วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ทฤษฎีหลักสูตร (ต่อ)

ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรของนักวิชาการไทย

แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรของวิชัย วงษ์ใหญ่

            วิชัย วงษ์ใหญ่ ได้สรุปแนวคิดและขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตร โดยรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรจะเป็นฐานคิดในการพัฒนาหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2552

 ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรมีดังนี้

        1.คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร ใช้ข้อมูลสภาพปัญหาและความต้องการของสังคม มากำหนดจุดมุ่งหมาย หลักการและโครงสร้าง และออกแบบหลักสูตร โดยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญประกอบ

         2.ยกร่างเนื้อหาสาระ แต่ละกลุ่มประสบการณ์ แต่ละหน่วยการเรียน และแต่ละรายวิชา โดยปรึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาวิชา คณะกรรมการฯ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาวิชาเป็นผู้กำหนดผลการเรียนรู้ จุดประสงค์ เชิงพฤติกรรมหรือจุดประสงค์การเรียนรู้ วางแผนการสอน ทำบันทึก ผลิตสื่อการสอน จัดกิจกรรมการเรียนการสอน

        3.ทดลองใช้หลักสูตรในสถานศึกษานำร่อง และแก้ไขข้อบกพร่อง

        4.อบรมผู้สอน ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาให้เข้าใจหลักสูตรใหม่

        5.ปฏิบัติการสอน กิจกรรมการใช้หลักสูตรใหม่มี 4 ประการ คือ

            5.1 การแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน คือจัดทำวัสดุ สื่อการสอน

            5.2 ผู้บริหารจัดเตรียมสิ่งต่างๆ เช่น บุคลากร (ครู) วัสดุหลักสูตร และบริการต่างๆ

            5.3 การสอน ผู้สอนประจำการ ทำหน้าที่ดำเนินการสอน

            5.4 การประเมินผล ประเมินทั้งผลการเรียนและหลักสูตร แล้วนำไปแก้ไข



กระบวนการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดแบบจำลอง SU Model

        กระบวนการพัฒนาหลักสูตร (สามเหลี่ยมใหญ่) จะประกอบด้วยขั้นตอนในการจัดทำหลักสูดร (สามเหลี่ยมเล็กๆ 4 ภาพ) โดยประกอบด้วย 4 ขั้นตอนดังนี้

                1.สามเหลี่ยมแรก การวางแผนหลักสูตร (Curriculum Planning) อาศัยแนวคิดพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์คำถามที่หนึ่งคือ มีจุดมุ่งหมายอะไรบ้างในการศึกษาที่โรงเรียนต้องแสวงหา เพื่อนำไปวางแผ่นหลักสูตร กำหนดจุดหมายหลักสูตร

                2. สามเหลี่ยมรูปที่สอง การออกแบบ (Curriculum Design) นำจุดหมายและจุดมุ่งหมายของหลักสูตรมาจัดทำกรอบการปฏิบัติ ม่งเน้นให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาตามกระบวนการของหลักสูตร สอดคล้องกับคำถามที่สองของไทเลอร์คือมีประสบการณ์ศึกษาอะไรบ้างที่โรงเรียนควรจัดเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในการศึกษา การออกแบบหลักสูตรเพื่อให้มีจัดกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่ตอบสนองจุดหมายและจุดมุ่งหมายของหลักสูตร

               3.สามเหลี่ยมรูปที่สาม การจัดระบบหลักสูตร (Curriculum Organize) จัดหลักสูตรเพื่อตอบสนองการวางแผนหลักสูตร สองคล้องกับคำถามที่สามของไทเลอร์ คือ จัดประสบการณ์เรียนรู้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ การจัดระบบหลักสูตรให้ได้ประสิทธิภาพมีความหมายรวมถึงการบริหารที่สนับสนุนการจัดการเรียนรู้ และรวมถึงการนิเทศการศึกษา

                4.สามเหลี่ยมรูปที่สี่ การประเมิน (Curriculum Evaluation) ประเมินทั้งระบบหลักสูตรและผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร สอดคล้องคำถามที่สี่ของไทเลอร์ คือ ประเมินประสิทธิผลของประสบการณ์ในการเรียนอย่างไร

             พื้นฐานแนวคิด SU Model มาจากการพัฒนาสามเหลี่ยมมุมบน มุ่งเน้นให้การศึกษา 3 ส่วน คือ จริยศึกษา เป็นการอบรมศีลธรรมอันดีงาม พุทธิศึกษา ให้ปัญญาความรู้ และพลศึกษา เป็นการฝึกหัดให้มีร่างกายสมบูรณ์ เมื่อนำมาใช้จะได้ว่า เป้าหมายหมายของสูตรจะมุ่งเน้นให้เกิด ความรู้ (knowledge) พัฒนาผู้เรียน (leader) และสังคม (society) มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นคนที่ “เก่ง ดี มีสุข” การพัฒนาหลักสูตรจะประกอบไปด้วย 3 ด้าน คือ ด้านปรัชญาการศึกษา ด้านจิตวิทยา และด้านสังคม มีการพัฒนาหลักสูตรจากรูปสามเหลี่ยมไปสู่การวางแผนหลักสูตร การออกแบบหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ และการประเมินหลักสูตร ดังภาพ SU Model มีขั้นตอนดังนี้

ที่มา: https://sites.google.com/site/viewnaiyana/thvsdi-hlaksutr

1.เริ่มจากวงกลม หมายถึง จักรวาลแห่งการเรียนรู้ รูปสามเหลี่ยมด้านเท่า หมายถึง กระบวนการพัฒนาหลักสูตร

2.ระบุพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร ในพื้นที่วงกลมซึ่งมีพื้นฐานหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตร ระบุพื้นฐาน 3 ด้าน (ปรัชญา จิตวิทยา สังคม) ลงในช่องว่างนอกรูปโดยกำหนดให้ด้านสามเหลี่ยมระหว่างความรู้กับผู้เรียนมีพื้นฐานสำคัญคือ พื้นฐานด้านปรัชญา ด้านสามเหลี่ยมระหว่างผู้เรียนกับสังคมมีพื้นฐานผู้เรียนกับสังคมมีพื้นฐานสำคัญคือ พื้นฐานด้านจิตวิทยา และด้านสามเหลี่ยมระหว่างสังคมกับความรู้มีพื้นฐานสำคัญคือ พื้นฐานด้านสังคม

3.พื้นฐานด้านปรัชญา ได้แนวคิดว่าการพัฒนาหลักสูตรที่มีจุหมายของหลักสูตรที่มุ่งเน้นความรู้ มาจากพื้นฐานสามรัตถนิยมกับปรัชญานิรันตรนิยม การพัฒนาหลักสูตรที่มีจุดมุ่งหมายของหลักสูตรที่มุ่งเน้นผู้เรียน มาจากพื้นฐานปรัชญาอัตถิภาวะนิวม และการพัฒนาหลักสูตรที่มีจุดหมายของหลักสูตรที่มุ่งเน้นสังคม มาจากพื้นฐานปรัชญาปฏิรูปนิยม

4.กำหนดจุดกึ่งกลางของด้านสามเหลี่ยมทั้งสามด้าน เพื่อแทนความหมายว่าในการพัฒนาหลักสูตรต้องใช้ข้อมูลพื้นฐานด้านปรัชญา จิตวิทยา และสังคม

5.พิจารณากระบวนการพัฒนาหลักสูตร นำแนวคิดกระบวนการพัฒนาหลักสูตรมากำหนดชื่อสามเหลี่ยมเล็กๆทั้งสี่รูป ได้แก การวางแผนหลักสูตร การออกแบบหลักสูตร การจัดหลักสูตร และการประเมินหลักสูตร

        หลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมีพื้นฐานที่สำคัญจากปรัชญาพิพัฒนาการ ที่มีความเชื่อว่าสาระสำคัญและความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายนั้นไม่ได้หยุดนิ่ง ฉะนั้นวิธีการทางการศึกษาจึงต้องพยายามปรับปรุงให้สอดคล้องกับกาลเวลาและสภาพแวดล้อมอยู่เสมอ

อ้างอิง
https://sites.google.com/site/viewnaiyana/thvsdi-hlaksutr

วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ทฤษฎีหลักสูตร

ทฤษฎีหลักสูตร

ความหมายหลักสูตร

            กาญจนา คุณารักษ์ (2540: 14) กล่าวว่า “หลักสูตร” หมายถึง โครงการหรือแผนข้อกำหนดอันประกอบด้วย หลักการ จุดหมาย โครงสร้าง กิจกรรมและวัสดุต่างๆ ในการจัดการเรียนการสอนที่จะพัฒนาผู้เรียนมีความสามารถและเกิดการเรียนรู้ โดยส่งเสริมให้เอกัตบุคคลไปสู่ศักยภาพสูงสุดของตนเอง

            ทาบา (Taba 1962: 10) กล่าวว่า “หลักสูตร” หมายถึง เอกสารที่จัดทำขึ้น เพื่อระบุเป้าหมายและวัตถุประสงค์การเรียนรู้ เนื้อหาสาระ กิจกรรมหรือประสบการณ์การเรียนรู้ และการประเมินผลการเรียนรู้ การพัฒนาหลักสูตรเป็นการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงหลักสูตรอันเดิมให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ในด้านการวางจุดมุ่งหมาย การจัดเนื้อหาการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายใหม่ที่วางไว้

จากนิยามข้างต้น สามารถสรุปได้ว่า “หลักสูตร” หมายถึง ศาสตร์ที่เรียนรู้เพื่อนำไปกำหนดวิถีทางที่นำไปสู่การจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนเพื่อการเรียนรู้

           

ความหมายทฤษฎี

            ทฤษฎี (Theory)” มาจากภาษากรีกว่า Theoria หมายความว่า การตื่นตัวของจิตใจ ดังนั้นทฤษฎีเป็นลักษณะของการมองความจริงอันบริสุทธิ์

                 ราชบัณฑิตยสถาน (2542: 504) ให้ความหมายคำว่า “ทฤษฎี” หมายถึง ความเห็น การเห็นด้วยใจ ลักษณะที่คิดคาดเอาตามหลักวิชา เพื่อเสริมเหตุผลและรากฐานให้แก่ปรากฏการณ์หรือข้อมูลในภาคปฏิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างมีระเบียบ

               แคปแลน (Kaplan, A. 1964) กล่าวไว้ว่า “ทฤษฎี” เป็นแนวทางที่ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ที่ทำให้วิตกกังวลด้วยการกระทำอย่างมีประสิทธิผลในการทำความเข้าใจจากปรากฏการณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การละทิ้งหรือปรับเปลี่ยนสถานการณ์ต่างๆ เข้าด้วยกันและทดแทนด้วยสถานการณ์ใหม่ที่ต้องการ    



ขั้นตอนการสร้างทฤษฎี

            ในการสร้างทฤษฏีมีกฎพื้นฐาน 2 ประเด็นที่ควรคำนึงถึง ได้แก่

                (1.) การนิยาม หรือการทำความชัดเจนเกี่ยวกับ “คำเฉพาะ” ถ้อยคำที่นำมาสร้างทฤษฎีต้องมีความกระจ่างชัด ในการนิยามต้องมีความเสมอต้นเสมอปลาย

                (2.) การจัดหมวดหมู่ โดยนักทฤษฎีจะรวบรวมเนื้อหาสาระให้เป็นระบบระเบียบ และรวบรวมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน



การสร้างทฤษฏีหลักสูตร

            โบแชมพ์ (Beauchamp 1981: 77) ได้เสนอว่าทฤษฎีหลักสูตรแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ทฤษฎีการออกแบบหลักสูตร (Design theories) และทฤษฎีวิศวกรรมหลักสูตร (Engineering theories)

     1.ทฤษฎีการออกแบบหลักสูตร (Design theories)

               การออกแบบหลักสูตร (Curriculum design) หมายถึง การจัดส่วนประกอบหรือองค์ประกอบของหลักสูตรซึ่งได้แก่ จุดมุ่งหมาย เนื้อหา สาระ กิจกรรมการเรียนและการประเมินผล

               โบแชมพ์ ได้สรุปองค์ประกอบสำคัญซึ่งจะต้องเขียนไว้ในเอกสารหลักสูตร 4 ประการ คือ เนื้อหาสาระและวิธีการจัด จุดมุ่งหมายทั่วไปและจุดมุ่งหมายเฉพาะแนวทางการนำหลักสูตรไปใช้สู่การเรียนการสอน และการประเมินผลซึ่งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่งสำหรับหลักสูตร

    2. ทฤษฎีวิศวกรรมหลักสูตร (Engineering theories)

                ทฤษฎีวิศวกรรมหลักสูตร (Engineering theories) หมายถึง กระบวนการทุกอย่างที่จำเป็นในการทำให้ระบบหลักสูตรเกิดขึ้นในโรงเรียนได้แก่ การสร้างหรือจัดทำหลักสูตร กนได้มากที่สุดการใช้หลักสูตร และการประเมินประสิทธิภาพของหลักสูตรและการประเมินระบบหลักสูตร หลักสูตรที่มีคุณภาพและสามารถ

                ถ่ายทอดประสบการณ์ถึงผู้เรียนได้มีหลายรูปแบบ ได้แก่ รูปแบบการบริหาร รูปแบบการปฏิบัติการ รูปแบบการสาธิต รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติ และรูปแบบการใช้คอมพิวเตอร์เป็นฐานสำหรับการกำหนดหลัก

                ทฤษฏีหลักสูตรจะช่วยในการบริหารงานเกี่ยวกับหลักสูตรให้มี หลักเกณฑ์ หลักการ และระบบมากยิ่งขึ้น เช่น การสร้างหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตร และการประเมินหลักสูตรการจัดบุคลากร เกี่ยวกับหลักสูตร การทำให้องค์ประกอบของหลักสูตรที่จะนำไปใช้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น



ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรของนักวิชาการต่างประเทศ

            แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตร

                    “โอลิวา” เป็นคนแรกที่ใช้คำว่าแบบจำลอง (Model) ในการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งจะมีการกำหนดกรอบแนวคิดและเกณฑ์ที่ใช้ในการปรับปรุงหลักสูตร

โดยที่แบบจำลองนั้นจะแสดงองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้

            1. องค์ประกอบหลักของกระบวนการ

            2. การปฏิบัติที่ชัดเจน

            3. ความสัมพันธ์ระหว่างหลักสูตรและการสอน

            4. จุดหมายเฉพาะที่แตกต่างระหว่างหลักสูตรและการสอน

            5. การแสดงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง

            6. วัฎจักรความสัมพันธ์ต้องไม่แสดงแต่เพียงนัยลำดับขั้นตอน

            7. มีการให้ข้อมูลย้อนกลับ

            8. จุดเริ่มต้นสามารถเริ่มที่ตำแหน่งใดก็ได้ในวงจร

            9. ความเป็นเหตุเป็นผลและความแน่นอนภายในแบบจำลอง

            10. ให้ความคิดที่เรียบง่าย

            11. มีองค์ประกอบแสดงความสัมพันธ์ในรูปแบบไดอะแกรมหรือแผนภาพ



           แบบจำลองของไทเลอร์

          ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาหลักสูตร ไทเลอร์ให้คำแนะนำว่า ในการกำหนดวัตถุประสงค์ทั่วไปของหลักสูตรทำได้ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ประกอบด้วย

                      1. ข้อมูลผู้เรียน    

                      2. ข้อมูลสังคมที่โรงเรียนตั้งอยู่  

                      3. ข้อมูลเนื้อหาสาระวิชา

            นำข้อมูลจาก 3 แหล่งนี้มาวิเคราะห์เชื่อมโยง เพื่อนำข้อมูลไปกำหนดจุดประสงค์ของหลักสูตร ต่อจากนั้นจึงกลั่นกรองด้วยปรัชญาการศึกษาของสถานศึกษาและจิตวิทยาการเรียนรู้

           การพิจารณาโครงสร้างหลักสูตรของไทเลอร์ (Tyler, 1949 :53)

                ไทเลอร์มองว่า นักการศึกษาจะต้องจัดการศึกษาที่มุ่งให้ความสำคัญกับสังคม ด้วยการยอมรับความต้องการของสังคม และในการดำเนินชีวิต ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือที่มุ่งปรับปรุงสังคม ผู้สอนควรได้นำทั้งปรัชญาสังคมและปรัชญาการศึกษา มาเป็นเค้าโครงพิจารณาใน 4 ประเด็น คือ

            1. ความจำและการระลึกได้ของแต่ละคน เป็นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ ไม่จำกัดว่าจะเป็นเชื้อชาติ สัญชาติ หรือฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม

            2. โอกาสเพื่อการมีส่วนร่วมที่เปิดกว้างในทุกระยะของกิจกรรมในกลุ่มสังคม

            3. ให้การสนับสนุนของการเปลี่ยนแปลงมากกว่ามุ่งตอบความต้องการส่วนบุคคล

            4. ความเชื่อและสติปัญญาเป็นดังวิธีของความคิดที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสำคัญมากกว่าที่จะขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐหรือผู้มีอำนาจ

นิยาม “ประสบการณ์การเรียนรู้” ของไทเลอร์

           ไทเลอร์ให้นิยาม “ประสบการณ์การเรียนรู้” ว่าหมายถึง “ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับเงื่อนไขปัจจัยภายนอกที่เป็นสิ่งแวดล้อมที่ผู้เรียนสามารถโต้ตอบได้”

โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ 4 ประการ คือ

            1. พัฒนาทักษะในการคิด

            2. ช่วยให้ได้สารสนเทศที่ต้องการ

            3. ช่วยให้ได้พัฒนาเจตคติเชิงสังคม

            4. ช่วยให้ได้พัฒนาความสนใจ

            แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรของทาบา

            บาทามีความเห็นว่าหลักสูตรต้องถูกออกแบบโดยครูผู้สอนไม่ใช่คนอื่น โดยส่งเสริมการสร้างสรรค์การสอนและการเรียนรู้มากกว่าการออกแบบหลักสูตร  มี 7 ขั้นตอนดังนี้

        ขั้นที่ 1 การวิเคราะห์ความต้องการจำเป็น

        ขั้นที่ 2 การกำหนดวัตถุประสงค์

        ขั้นที่ 3 การเลือกเนื้อหาสาระ

        ขั้นที่ 4 การจัดการเกี่ยวกับเนื้อหาสาระ

        ขั้นที่ 5 การเลือกประสบการณ์เรียนรู้

        ขั้นที่ 6 การจัดการเกี่ยวกับประสบการณ์เรียนรู้

        ขั้นที่ 7 การตัดสินใจว่าจะประเมินอะไรและวิธีการประเมิน



            แบบการจำลองการพัฒนาหลักสูตรของเซเลอร์ อเล็กซานเดอร์และเลวีส

            เซเลอร์ อเล็กซานเดอร์และเลวีส (Saylor J.G, Alexander. W.M. and Lewis Arthur J 1981: 24) นำเสนอแบบจำลองในการพัฒนาหลักสูตรประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ภายใต้แนวคิดของการวางแผนให้โอกาสในการเรียนรู้เพื่อบรรลุผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องสำหรับประชากร ดังนี้

            1. จุดหมาย วัตถุประสงค์และขอบข่ายที่ต้องการพัฒนา

            2. การออกแบบหลักสูตร

            3. การนำหลักสูตรไปใช้

            4. การประเมินหลักสูตร



            แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรของโอลิวา

            เป็นความสัมพันธ์อย่างละเอียดระหว่างองค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญครอบคลุมกระบวนการพัฒนาหลักสูตรตั้งแต่ต้นจนจบ นักพัฒนาหลักสูตรต้องทำความเข้าใจแต่ละขั้นโดยตลอด จากข้อมูลพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านปรัชญาถึงการประเมินหลักสูตร

            รูปแบบการพัฒนาหลักสูตร 12 ขั้นตอนของโอลิวา

        ขั้นที่ 1 - กำหนดปรัชญา จุดหมายการศึกษา และความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้

        ขั้นที่ 2 - วิเคราะห์ความต้องการจำเป็นของผู้เรียนและสังคม

        ขั้นที่ 3 กับ 4 - กำหนดวัตถุประสงค์ที่ได้จากขั้นที่ 1 และ 2

        ขั้นที่ 5 - การบริหารและนำหลักสูตรไปใช้

        ขั้นที่ 6 กับ 7 - การเพิ่มระดับจุดหมายของการเรียนการสอน

        ขั้นที่ 8 - การเลือกกลวิธีการสอน

        ขั้นที่ 9 - การเลือกวิธีการประเมินผลก่อนเรียน

        ขั้นที่ 10 - การดำเนินการจัดการเรียนการสอน

        ขั้นที่ 11 - เก็บรวบรวมข้อมูลการประเมินผลการเรียนการสอน

        ขั้นที่ 12 - การประเมินหลักสูตรทั้งระบบ

            สรุป

            การศึกษากระบวนการพัฒนาหลักสูตร จากแนวคิดของไทเลอร์ ทาบา เซเลอร์ อเล็กซานเดอร์ ออร์นสไตน์ และฮันกิน โอลิวา สรุปกระบวนการพัฒนาหลักสูตรออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

            1. การวางแผนหลักสูตร (Curriculum planning)

            2. การออกแบบหลักสูตร (Curriculum design)

            3. การจัดหลักสูตร (Curriculum organization)

            4. การประเมินหลักสูตร (Curriculum evaluation)

อ้างอิง

https://sites.google.com/site/viewnaiyana/thvsdi-hlaksutr