กระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
หลักสูตรจะต้องสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจและเปลี่ยนไปตามธรรมชาติของการศึกษา ผู้สอนต้องปรับปรุงกระบวนการสอนและประเมินกระบวนการสอนของตน เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมการศึกษาจะเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ถ้าหลักสูตรมีการปรับปรุง ให้เป็นไปตามความต้องการและความจำเป็นตลอดเวลา
การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา เป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญในการบริหารจัดการหลักสูตร ซึ่งภารกิจในการบริหารจัดการหลักสูตร ประกอบด้วย
ภารกิจที่ 1 การเตรียมความพร้อม
ภารกิจที่ 2 การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
ภารกิจที่ 3 การวางแผนดำเนินการใช้หลักสูตร
ภารกิจที่ 4 การดำเนินการบริหารหลักสูตร (ใช้หลักสูตร)
ภารกิจที่ 5 การนิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผล
ภารกิจที่ 6 การสรุปผลการดำเนินงาน
ภารกิจที่ 7 การปรับปรุงพัฒนา
การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ที่ข้อควรคำนึง 2 ประการคือ
1. หลักสูตรสถานศึกษาต้องเชื่อมโยงกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 ซึ่งเป็นกรอบสำคัญของการจัดการศึกษาสำหรับสถานศึกษาทั่วประเทศ ส่วนสำคัญที่ต้องยึดถือมาตรฐานการเรียนรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ และมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวเป็นคุณภาพที่เกิดกับผู้เรียนทั่วประเทศ หลังจากที่จบจากการศึกษาแต่ละช่วงชั้นหรือจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2. หลักสูตรสถานศึกษาจะต้องพัฒนาผู้เรียนให้เต็มศักยภาพ ซึ่งจะเป็นส่วนที่เพิ่มเติมจากข้อ 1 หลักสูตรจะต้องตอบสนองต่อความถนัด ความสนใจ และความต้องการของผู้เรียน ความแตกต่างของแต่ละบุคคลเป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาถึงขีดสูงสุด
สถานศึกษาสามารถออกแบบหลักสูตรของตนเองได้อย่างอิสระ โดยยึดนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลักวิชาการที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา มีความถูกต้องเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ชุมชนและท้องถิ่นและมีความเป็นไปได้
แผนภูมิกระบวนการการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
ที่มา: http://elearning.aru.ac.th/1021205/edu01/topic1/linkfile/print.htm
แนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
เมื่อเตรียมความพร้อมทุก ๆ ด้านแล้ว จึงจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา แนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา มีดังนี้
1.การกำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมาย
สถานศึกษาจำเป็นต้องกำหนดวิสัยทัศน์เพื่อมองอนาคตว่า โลกและสังคมรอบ ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และสถานศึกษาจะต้องปรับตัว ปรับหลักสูตรอย่างไร จึงจะพัฒนาผู้เรียนให้เหมาะสมกับยุคสมัย ในการสร้างหลักสูตรสถานศึกษา สถานศึกษาต้องมีวิสัยทัศน์ ซึ่งทำได้โดยอาศัยความร่วมมือของชุมชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ผู้เรียน ภาคธุรกิจ ภาครัฐในชุมชน ร่วมกันกับคณะกรรมการสถานศึกษาแสดงความประสงค์อันสูงส่งหรือวิสัยทัศน์ที่ปรารถนาให้สถานศึกษาเป็นสถาบันพัฒนาผู้เรียนที่มีพันธกิจหรือภาระหน้าที่ร่วมกันในการกำหนดงานหลักที่สำคัญ ๆ ของสถานศึกษาพร้อมด้วยเป้าหมาย แผนปฏิบัติการและการติดตามผล ตลอดจนจัดทำรายงาน แจ้งสาธารณชน และส่งผลย้อนกลับให้สถานศึกษา เพื่อการปฏิบัติงานที่เหมาะสมตามหลักสูตรของสถานศึกษา และจุดหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติที่กำหนดไว้
กระบวนการสร้างวิสัยทัศน์ โดยอาศัยบุคคลต่าง ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมนี้ เป็นกระบวนการที่มีพลังผลักดันให้แผนกลยุทธ์ที่สถานศึกษาสร้างขึ้นดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีทิศทางก่อให้เกิดเจตคติในทางที่สร้างสรรค์ดีงานแก่สังคมของสถานศึกษา มีระบบและหน่วยสนับสนุนในการปฏิบัติงานเกิดขึ้นอย่างเป็นเครือข่าย เพียบพร้อม เช่น ระบบคุณภาพระบบหลักสูตร สาระการเรียนรู้ การเรียนการสอน สื่อการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล การติดตาม การรายงานฐานข้อมูลการเรียนรู้ การวิจัยแบบมีส่วนร่วม มีระบบสนับสนุนครูอาจารย์ เป็นต้น กระบวนการสร้างวิสัยทัศน์ด้วยวิธี ดังกล่าวนี้จะนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตร การกำหนดสาระการเรียนรู้หรือหัวข้อเรื่องในท้องถิ่นสนองตอบความต้องการของชุมชน
วิสัยทัศน์
- เป็นเจตนารมณ์ อุดมการณ์ หลักการ ความเชื่อ อนาคตที่พึงประสงค์ เป็นการคิดไปข้างหน้า มีเอกลักษณ์
- สามารถสร้างศรัทธา และจุดประกายความคิดในสภาพการพัฒนาสูงสุด
ภารกิจ
แสดงวิธีดำเนินการของสถานศึกษาเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์และนำไปสู่การวางแผนปฏิบัติต่อไป
เป้าหมาย
กำหนดเป็นความคาดหวังด้านคุณภาพที่เกิดกับผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่สถานศึกษากำหนดและสอดคล้องกับจุดหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
นอกจากนั้น สถานศึกษาต้องร่วมกับชุมชน กำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนด้านคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม
คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่สถานศึกษาจะกำหนดเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ นั้น สามารถกำหนดขึ้นได้ตามความต้องการ โดยให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความจำเป็นที่จะต้องมีการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมดังกล่าว ให้แก่ผู้เรียน เพิ่มจากที่กำหนดไว้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ
ในแต่ละภาคเรียนหรือปีการศึกษา ครูผู้สอนต้องจัดให้มีการวัดและประเมินผลด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน โดยเป็นการประเมินเชิงวินิจฉัยเพื่อปรับปรุงพัฒนาและการส่งต่อ ทั้งนี้ ควรประสานสัมพันธ์กับผู้เรียน ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องร่วมกันประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์รายปี หรือรายภาค
2. การจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา
จากวิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าหมาย ที่สถานศึกษาได้กำหนดไว้ สถานศึกษาจะต้องจัดทำโครงสร้างหลักสูตร ซึ่งกำหนดสาระการเรียนรู้ และเวลาเรียนไว้อย่างชัดเจน เพื่อสถานศึกษาจะนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนด
โครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา ประกอบด้วย
· สาระการเรียนรู้ / ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายวิชา หน่วยการเรียนรู้ ครบ 8 กลุ่มสาระ รายภาคหรือปี ทั้งที่กำหนดไว้ในหลักสูตรและเพิ่มเติมตามความถนัด ความสนใจ ความต้องการของผู้เรียน ชุมชน และท้องถิ่น
· มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทุกภาคเรียน
· กำหนดเวลาแต่ละกลุ่มสาระ หน่วยการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนรายภาคหรือปี
อ้างอิง
http://elearning.aru.ac.th/1021205/edu01/topic1/linkfile/print.htm
https://sites.google.com/site/orathaieducation/hlaksutr-laea-kar-cadkar-reiyn-ru/kar-phathna-hlaksutr-sthan-suksa
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น