3.การจัดทำสาระของหลักสูตร
1) กำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาค โดยวิเคราะห์จากมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นที่กำหนดไว้ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ มาจัดเป็นผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาค ที่ระบุถึงความรู้ ความสามารถของผู้เรียน และคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากการเรียนรู้ในแต่ละปีหรือภาคนั้น
การกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาคของสาระการเรียนรู้ให้สถานศึกษากำหนดเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม สอดคล้องกับความสามารถ ความถนัด ความสนใจ และสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน
2) กำหนดสาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาค โดยวิเคราะห็จากผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาคที่กำหนดไว้ในข้อ 1) และให้สอดคล้องกับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น รวมทั้งสอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่นและชุมชน
3) กำหนดเวลาและจำนวนหน่วยกิต สำหรับสาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาค ดังนี้
- ช่วงชั้น ป.1-3 ป.4-6 และ ม.1-3 กำหนดสาระการเรียนรู้เป็นรายปี และกำหนดจำนวนคาบเวลาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและสาระการเรียนรู้นั้น
- ช่วงชั้น ม.4-6 กำหนดสาระการเรียนรู้เป็นรายภาค และกำหนดจำนวนหน่วยกิตให้เหมาะสม สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและสาระการเรียนรู้
ในการกำหนดจำนวนหน่วยกิตของสาระการเรียนรู้รายภาคสำหรับช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ให้เกณฑ์การพิจารณาที่ใช้เวลาจัดการเรียนรู้ 40 ชั่วโมงต่อภาคเรียน มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต
สำหรับสาระการเรียนรู้ที่สถานศึกษาจัดทำเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นวิชาเฉพาะของสายอาชีพ หรือโปรแกรมเฉพาะทางอื่น ๆ ใช้เกณฑ์การพิจารณา คือ สาระการเรียนรู้ที่ใช้เวลาจัดการเรียนรู้ระหว่าง 40-60 ชั่วโมงต่อภาคเรียน มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตทั้งนี้สถานศึกษากำหนดได้ตามความเหมาะสมและใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน
4) จัดทำคำอธิบายรายวิชา โดยการนำเอาผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาค สาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาค รวมทั้งเวลาและจำนวนหน่วยกิตที่กำหนด ตามข้อ 1) 2) และ 3) มาเขียนเป็นคำอธิบายรายวิชา โดยให้ประกอบด้วยชื่อรายวิชา จำนวนเวลาหรือจำนวนหน่วยกิต ผลการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้ของรายวิชานั้น ๆ ซึ่งสามารถเขียนคำอธิบายรายวิชาได้หลายรูปแบบ เช่น
รูปแบบที่ 1 เขียนเป็นความเรียงเสนอภาพรวมของผลการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้ทั้ง 3 ด้าน
รูปแบบที่ 2 เขียนแยกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
- ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง : เขียนเป็นความเรียง สรุปภาพรวมของผลการเรียนทั้ง 3 ด้าน
- สาระการเรียนรู้ : เขียนเป็นความเรียงของขอบข่ายเนื้อหา
รูปแบบที่ 3 เขียนเป็นความเรียง ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
- ขอบข่ายกิจกรรมที่กำหนดกว้าง ๆ สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ของรายวิชา
- ขอบข่ายเนื้อหาที่สอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ของรายวิชา
- ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียนอย่างกว้าง ๆ
รูปแบบที่ 4 เขียนเป็นความเรียง ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ
- จุดประสงค์ของรายวิชาที่สอดคล้องกับผลการเรียนรู้รายวิชา
- ขอบข่ายสาระการเรียนรู้
- กิจกรรมการเรียนรู้
- วิธีการวัดและประเมินผล
รูปแบบที่ 5 เขียนแยกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
- ผลการเรียนรู้ : เขียนให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน เป็นข้อ ๆ โดยไม่แยกด้าน
สำหรับคำอธิบายรายวิชามีแนวทางการกำหนดดังนี้ ชื่อรายวิชาของสาระการเรียนรู้ ให้ใช้ตามชื่อกลุ่มสาระการเรียนรู้ ส่วนชื่อรายวิชาที่สถานศึกษาจัดทำเพิ่มเติมสามารถกำหนดตามความเหมาะสม ทั้งนี้ต้องสื่อความหมายได้ชัดเจน มีความสอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในรายวิชานั้น ๆ
5) จัดทำหน่วยการเรียนรู้ โดยการนำเอาสาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาคที่กำหนดไว้ไปบูรณาการจัดทำเป็นหน่วยการเรียนรู้ย่อย ๆ เพื่อความสะดวกในการจัดการเรียนรู้และผู้เรียนได้เรียนรู้ในลักษณะองค์รวม หน่วยการเรียนรู้ แต่ละหน่วยประกอบด้วย ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง สาระการเรียนรู้ และจำนวนเวลาสำหรับการจัดการเรียนรู้ ซึ่งเมื่อเรียนครบทุกหน่วยย่อยแล้ว ผู้เรียนสามารถบรรลุตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาคของทุกวิชา
ในการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ อาจบูรณาการทั้งภายในและระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือเป็นการบูรณาการเฉพาะเรื่องตามลักษณะสาระการเรียนรู้ หรือเป็นการบูรณาการที่สอดคล้องกับวิถีชีวติของผู้เรียน โดยพิจารณาจากมาตรฐานการเรียนรู้ที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับการจัดการเรียนรู้สำหรับหน่วยการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้นสถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติโครงงานอย่างน้อย 1 โครงงาน
6) จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ โดยวิเคราะห์จากคำอธิบายรายวิชา รายปี หรือรายภาค แต่ละหน่วยการเรียนรู้ที่จัดทำ กำหนดเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียนและผู้สอน
4.การออกแบบการเรียนรู้
4.1 การจัดการเรียนการสอน
การเรียนรู้ในสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ มีกระบวนการและวิธีการที่หลากหลาย ผู้สอนต้องคำนึงถึงพัฒนาการทางด้านร่างกาย และสติปัญญา วิธีการเรียนรู้ ความสนใจ และความสามารถของผู้เรียนเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น ควรใช้รูปแบบ / วิธีการที่หลากหลาย เน้นการจัดการเรียนการสอนตามสภาพจริง การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ร่วมกัน การเรียนรู้จากธรรมชาติ การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และการเรียนแบบบูรณาการ การใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ การเรียนรู้คู่คุณธรรม ทั้งนี้ ต้องพยายามนำกระบวนการการจัดการกระบวนการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม กระบวนการคิดและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปสอดแทรกในการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ เนื้อหาและกระบวนการต่าง ๆ ข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะองค์รวม การบูรณาการเป็นการกำหนดเป้าหมายการเรียนร่วมกัน ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยนำกระบวนการเรียนรู้จากกลุ่มสาระเดียวกัน หรือต่างกลุ่มสาระการเรียนรู้มาบูรณาการในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งจัดได้หลายลักษณะ เช่น
1. การบูรณาการแบบผู้สอนคนเดียว ผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้โดยเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ กับหัวข้อเรื่องที่สอดคล้องกับชีวิตจริงหรือสาระที่กำหนดขึ้นมา เช่น เรื่อง สิ่งแวดล้อม น้ำ เป็นต้น ผู้สอนสามารถเชื่อมโยงสาระ และกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มสาระต่าง ๆ เช่น การอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ การคิดวิเคราะห์ต่าง ๆ ทำให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะและกระบวนการเรียนรู้ไปแสวงหาความรู้ความจริงจากหัวข้อเรื่องที่กำหนด
2. การบูรณาการแบบคู่ขนาด มีผู้สอนตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันจัดการเรียนการสอนโดยอาจยึดหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วบูรณาการเชื่อมโยงแบบคู่ขนาน เช่น ผู้สอนคนหนึ่งสอนวิทยาศาสตร์ เรื่องเงา ผู้สอนอีกคนอาจสอนคณิตศาสตร์ เรื่องการวัดระยะทาง โดยการวัดเงา คิดคำนวณในเรื่องเงาในช่วงเวลาต่าง ๆ จัดทำกราฟของเงาในระยะต่าง ๆ หรืออีกคนหนึ่งอาจให้ผู้เรียนรู้ศิลปะเรื่องเทคนิคการวาดรูปที่มีเงา
3. การบูรณาการแบบสหวิทยาการ การบูรณาการในลักษณะนี้นำเนื้อหาจากหลายกลุ่มสาระมาเชื่องโยงเพื่อจัดการเรียนรู้ ซึ่งโดยทั่วไปผู้สอนมักจัดการเรียนการสอนแยกตามรายวิชาหรือกลุ่มวิชา แต่ในบางเรื่อง ผู้สอนจัดการเรียนการสอนร่วมกันในเรื่องเดียวกัน เช่น เรื่องวันสิ่งแวดล้อมของชาติ ผู้สอนภาษาไทยจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนรู้ภาษา คำศัพท์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผู้สอนวิทยาศาสตร์จัดกิจกรรมค้นคว้าเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผู้สอนสังคมศึกษาให้ผู้เรียนค้นคว้าหรือทำกิจกรรมชมรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และครู ผู้สอนสุขศึกษาอาจจัดให้จัดทำกิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น
4. การบูรณาการแบบโครงการ ผู้สอนสามารถจัดการเรียนการสอนโดยบูรณาการเป็นโครงการ โดยผู้เรียนและครูผู้สอนร่วมกันสร้างสรรค์โครงการขึ้น โดยใช้เวลาการเรียนต่อเนื่องกันได้หลายชั่วโมง ด้วยการนำเอาจำนวนชั่วโมงของวิชาต่าง ๆ ที่ครู ผู้สอนเคยสอนแยกกันนั้นมาร่วมเป็นเรื่องเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน ในลักษณะของการสอนเป็นทีม เรียนเป็นทีมในกรณีที่ต้องการเน้นทักษะบางเรื่องเป็นพิเศษ ครู ผู้สอนสามารถแยกกันสอนได้ เช่น กิจกรรมเข้าค่ายดนตรี กิจกรรมเข้าค่ายภาษาอังกฤษ กิจกรรมเข้าค่ายศิลปะ เป็นต้น
4.2 สื่อการเรียนรู้
การจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรสถานศึกษามุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียน เรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งมีความยืดหยุ่น สนองความต้องการของผู้เรียน ชุมชนสังคมและประเทศชาติ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่และเรียนรู้ได้จากสื่อการเรียนรู้ และแหล่งการเรียนรู้ทุกประเภท รวมทั้งจากเครือข่ายการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ชุมชน และแหล่งอื่น ๆ เน้นสื่อที่ผู้เรียน และผู้สอนใช้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียน ผู้สอนสามารถจัดทำและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ขึ้นเอง หรือนำสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว และในระบบสารสนเทศมาใช้ในการเรียนรู้ โดยใช้วิจารณญาณในการเลือกใช้สื่อ และแหล่งความรู้ โดยเฉพาะหนังสือเรียน ควรมีเนื้อหาสาระครอบคลุมตลอดช่วงชั้นสื่อ สิ่งพิมพ์ควรจัดให้มีอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ควรให้ผู้เรียนสามารถยืมได้จากศูนย์สื่อ หรือห้องสมุดของสถานศึกษา
4.3 การวัดผลและประเมินผล
การวัดและประเมินผลการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ให้ผู้สอนใช้พัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพราะจะช่วยให้ได้ข้อมูลสารสนเทศที่แสดงพัฒนาการ ความก้าวหน้า และความสำเร็จทางการเรียนของผู้เรียน รวมทั้ง ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาและเรียนรู้อย่างเต็มตามศักยภาพ
สถานศึกษาในฐานะผู้รับผิดชอบจัดการศึกษา จะต้องจัดทำ หลักเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติในการวัดและประเมินผลการเรียนของสถานศึกษา เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถือปฏิบัติร่วมกัน และเป็นไปในมาตรฐานเดียวกันสถานศึกษาต้องมีผลการเรียนรู้ของผู้เรียนจากการวัดและประเมิน ทั้งในระดับชั้นเรียนระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับชาติ ตลอดจนการประเมินภายนอก เพื่อใช้เป็นข้อมูลสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับคุณภาพของผู้เรียนแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและนอกสถานศึกษา
การวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียน มีจุดหมายสำคัญของการประเมินระดับชั้นเรียน คือ มุ่งหาคำตอบว่าผู้เรียนมีความก้าวหน้าทั้งด้านความรู้ ทักษะกระบวนการคุณธรรม และค่านิยมอันพึงประสงค์ อันเป็นผลเนื่องจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้หรือไม่ / เพียงใด ดังนั้น การวัด และประเมิน จึงต้องใช้วิธีการที่หลากหลายเน้นการปฏิบัติให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสาระการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ และสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปในกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยประเมินความประพฤติพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรม และผลงานจากโครงงานหรือแฟ้มสะสมงาน ผู้ใช้ ผลการประเมินในระดับชั้นเรียนที่สำคัญ คือ ตัวผู้เรียน ผู้สอนและพ่อแม่ ผู้ปกครอง จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย วิธีการ และค้นหาข้อมูลเกณฑ์ต่าง ๆ ที่จะทำให้สะท้อนให้เห็นภาพสัมฤทธิ์ผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้เรียนจะทราบระดับความก้าวหน้าความสำเร็จของตน ครูผู้สอน จะเข้าใจความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน แต่ละกลุ่มสามารถให้ระดับคะแนนหรือจัดกลุ่มผู้เรียน รวมทั้งประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของตนเองได้ ขณะที่พ่อแม่ ผู้ปกครองจะได้ทราบระดับความสำเร็จของผู้เรียน
สถานศึกษาเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษา
การประเมินผลระดับสถานศึกษา เป็นการประเมินเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้เป็นรายชั้นปี และช่วงชั้นสถานศึกษานำข้อมูลที่ได้นี้ไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนและคุณภาพของผู้เรียนให้เป็นไปตามมาตรฐานการเรียนรู้ รวมทั้งนำผลการประเมินรายช่วงชั้นไปพิจารณาตัดสินการเลื่อนช่วงชั้น กรณีผู้เรียนไม่ผ่านมาตรฐานการเรียนรู้ของกลุ่มสาระต่าง ๆ สถานศึกษาต้องจัดให้มีการเรียน การสอนซ่อมเสริม และจัดให้มีการประเมินผลการเรียนรู้ด้วย
5. การออกแบบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดให้มีสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่ม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นกิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถของตนเองตามศักยภาพ มุ่งเน้นเพิ่มเติมจากกิจกรรมที่ได้จัดให้เรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ทั้ง 8 กลุ่ม การเข้าร่วมและปฏิบัติกิจกรรมที่เหมาะสมร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขกับกิจกรรมที่เลือกด้วยตนเองตามความถนัด และความสนใจอย่างแท้จริง การพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ให้ครบทุกด้านทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม โดยอาจจัดเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสนองนโยบายในการสร้างเยาวชนของชาติให้เป็นผู้มีศีลธรรม จริยธรรม มีระเบียบวินัย และมีคุณภาพเพื่อพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งสถานศึกษาจะต้องดำเนินการอย่างมีเป้าหมาย มีรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
กิจกรรมแนะแนว เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของผู้เรียนให้เหมาะสมตามความแตกต่างระหว่างบุคคล สามารถค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตน เสริมสร้างทักษะชีวิต วุฒิภาวะทางอารมณ์ การเรียนรู้ในเชิงพหุปัญญา และการสร้างสัมพันธภาพที่ดี ซึ่งผู้สอนทุกคนต้องทำหน้าที่แนะแนวให้คำปรึกษาด้านชีวิตการศึกษาต่อและการพัฒนาตนเองสู่โลกอาชีพและการมีงานทำ
กิจกรรมนักเรียน เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความสมัครใจของผู้เรียนมุ่งพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์เพิ่มเติมจากกิจกรรมในกลุ่มสาระ เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ปัญหา ส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียนอย่างเต็มที่ รวมถึงกิจกรรมที่มุ่งปลูกฝังความมีระเบียบวินัย รับผิดชอบ รู้สิทธิและหน้าที่ของตนเอง แบ่งตามความแตกต่างระหว่างกิจกรรมได้เป็น 2 ลักษณะ
1. กิจกรรมพัฒนาความถนัด ความสนใจ ตามความต้องการของผู้เรียนเป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการเติมเต็มความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ของผู้เรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อการค้นพบความถนัดความสนใจของตนเอง และพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ ตลอดจนการพัฒนาทักษะของสังคม และปลูกฝังจิตสำนึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม
2. กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด และผู้บำเพ็ญประโยชน์ เป็นกิจกรรมที่มุ่งปลูกฝัง ระเบียบวินัย กฎเกณฑ์ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสภาพชีวิตต่าง ๆ นำไปสู่พื้นฐานการทำประโยชน์ให้แก่สังคม และวิถีชีวิตในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งกระบวนการจัดให้เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ ยุวกาชาด สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์และกรมการรักษาดินแดน
การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โรงเรียนอาจจัดทำได้หลายรูปแบบ เช่น
1. จัดแบ่งสัดส่วนเวลาของกิจกรรมต่าง ๆ แล้วกำหนดเวลาเรียนในตารางเวลาเรียน เช่นเดียวกันกับกลุ่มสาระอีก 8 กลุ่มสาระ
2. จัดแบ่งสัดส่วนเวลาของกิจกรรมต่าง ๆ แล้วกำหนดเวลาเรียนบางส่วนในตารางเวลาเรียนปกติ และบางส่วนเรียนนอกเวลา
3. จัดกิจกรรมต่าง ๆ ไปด้วยกัน โดยวางแผนร่วมกันของกลุ่มอาจารย์ที่ปรึกษากิจกรรม กำหนดเวลาเรียนบางส่วนในตารางเวลาเรียนปกติ บางส่วนเรียนนอกเวลา ฯลฯ
สถานศึกษา ต้องจัดให้ผู้เรียนทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมให้เหมาะสมกับวัยวุฒิภาวะและความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน
6. กำหนดรูปแบบ วิธีการ เกณฑ์การตัดสิน เอกสารหลักฐานการศึกษา
เกณฑ์การผ่านช่วงชั้นและการจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
การจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 12 ปี ผู้เรียนสามารถจบการศึกษาได้ 2 ช่วง คือ จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ถือว่า จบการศึกษาภาคบังคับ และจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งถือว่า จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ผู้เรียนผ่านการศึกษาแต่ละช่วงชั้น ตามเกณฑ์ ดังนี้
เกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นที่ 1,2 และ 3 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 (จบการศึกษาภาคบังคับ)
1. ผู้เรียนต้องเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม และได้รับการตัดสินผลการเรียนให้ได้ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
2. ผู้เรียนต้องผ่านการประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์ เขียน ให้ได้ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
3. ผู้เรียนต้องผ่านการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
4. ผู้เรียนต้องเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
เกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 (จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน)
1. ผู้เรียนต้องเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม และได้หน่วยกิตครบตามหลักสูตรที่สถานศึกษากำหนด และได้รับการตัดสินผลการเรียนให้ได้ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
2. ผู้เรียนต้องผ่านการประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์ เขียน ให้ได้ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
3. ผู้เรียนต้องผ่านการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
4. ผู้เรียนต้องเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
เอกสารหลักฐานการศึกษา
สถานศึกษาต้องพิจารณาจัดทำเอกสารการประเมินผลการเรียนเพื่อใช้ประกอบการดำเนินงานด้านการวัดและประเมินผลการเรียนตามที่เห็นสมควร เช่น เอกสารแสดงผลการเรียนรู้ของผู้เรียน แบบบันทึกผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในรายวิชาต่าง ๆ แบบรายงานการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นรายบุคคล ระเบียนสะสมแสดงพัฒนาการด้านต่าง ๆ และแบบแสดงผลการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เป็นต้น
7. พัฒนาระบบการส่งเสริมสนับสนุน
ในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพตามจุดหมายของหลักสูตร สถานศึกษาควรพัฒนาระบบการส่งเสริม สนับสนุนต่าง ๆ ที่จะเอื้อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพในเรื่องต่อไปนี้ คือ
1.การพัฒนากระบวนการแนะแนว
สถานศึกษาต้องพัฒนาระบบแนะแนวที่มุ่งการพัฒนาคนให้มีความรู้อย่างลึกซึ้ง ประเมินการจัดการที่มีคุณภาพ โดยกำหนดพันธกิจระหว่างบ้าน ชุมชน และสถานศึกษาที่เน้นความร่วมมือกันระหว่างบ้าน ในฐานะแหล่งเรียนรู้แรกของผู้เรียน ชุมชนจะเป็นเครือข่ายที่สำคัญของการแนะแนว ช่วยป้องกัน แก้ไข ปัญหาของสังคม สร้างเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยข้อมูลสารสนเทศ และพัฒนาเครือข่ายแนะแนวให้เข้มแข็ง เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพสูงสุด ทั้งด้านวิชาการ ด้านบุคลากร และด้านบริหารทั่วไป
2.การพัฒนาแหล่งการเรียนรู้และห้องสมุด
สถานศึกษาจำเป็นต้อง ส่งเสริม สนับสนุนให้มีแหล่งเรียนรู้ นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียนให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้า เพิ่มพูน ประสบการณ์และความชำนาญโดยเฉพาะห้องสมุดนั้น เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญยิ่ง เพราะจะเป็นแหล่งที่รวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนโดยตรง ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องสมุดที่มีความหรูหราหรือใหญ่โต อาจเป็นเพียงมุมหนังสือ เพื่อการศึกษาค้นคว้าก็ใช้ได้ นอกจากนี้ต้องสนับสนุนให้มีแหล่งการเรียนรู้ในรูปของคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีต่าง ๆ
3.การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพ
สถานศึกษาต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สอนนำกระบวนการวิจัยมาผสมผสานหรือบูรณาการใช้ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน และเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ สามารถใช้กระบวนการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ผลการวิจัยจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาหรือพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้เป็นอย่างดีทั้งนี้ เน้นการวิจัยทั้งในห้องเรียน และการวิจัยในภาพรวมของสถานศึกษา
4.เครือข่ายวิชาการ
สถานศึกษาต้องพัฒนา และส่งเสริม สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ ทางวิชาการ จากครูในสถานศึกษาเดียวกัน และในสถานศึกษาอื่น ๆ ตลอดจนชมรมวิชาการต่าง ๆ ในรูปของเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั้งจากบุคคลต่าง ๆ และจากสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ครูมีความรู้ และแนวคิดใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ
8. การเรียบเรียงเป็นหลักสูตรสถานศึกษา
จากกระบวนการดังกล่าวข้างต้น สถานศึกษาจะมีรายละเอียดที่ครอบคลุมภาระงานการจัดการศึกษาทุกด้าน ในขั้นนี้ จึงเป็นการวิเคราะห์และเรียบเรียง เพื่อให้เป็นหลักสูตรสถานศึกษาที่สมบูรณ์
ในการกำหนดหลักสูตรสถานศึกษา ควรคำนึงว่าสิ่งที่ปรากฎในหลักสูตรเป็นสิ่งที่สถานศึกษาจะต้องดำเนินการ ตั้งแต่ต้น คือ การกำหนดวิสัยทัศน์ จนกระทั่งการนำหลักสูตรสู่ห้องเรียน คือ การจัดทำแผนการเรียนรู้ รวมทั้งการบริหารจัดการหลักสูตรให้ประสบความสำเร็จ ใช้ศักยภาพทั้งของสถานศึกษาและชุมชนเต็มที่ เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง ประการสำคัญ หลักสูตรสถานศึกษาจะต้องสามารถบอกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและบุคคลในชุมชนทราบอย่างชัดเจนว่า จะจัดการศึกษาอย่างไรในสถานศึกษาดังนั้น เอกสารหลักสูตรสถานศึกษาอาจมีหลายเล่ม ซึ่งในเล่มแรกควรเป็นเล่มที่กำหนดภาพรวม และมีเล่มอื่น ๆ อีก ตามความเหมาะสม ซึ่งอาจแยกเล่มตามกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือหน่วยการเรียนรู้
การเรียบเรียง เป็นหลักสูตรสถานศึกษา ควรประกอบด้วย ส่วนสำคัญดังต่อไปนี้
1) วิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมาย
2) คุณลักษณะอันพึงประสงค์
3) โครงสร้างหลักสูตร
4) รายวิชาตามกลุ่มสาระการเรียนรู้
5) กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
6) การจัดการเรียนรู้และการส่งเสริมการเรียนรู้
7) การวัดและประเมินผล
8) การบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา
9) อื่น ๆ
ทั้งนี้ สถานศึกษาอาจกำหนดหัวข้อเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
เมื่อสถานศึกษาจัดทำร่างหลักสูตรสถานศึกษาตามหัวข้อดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว สถานศึกษาจะต้องตรวจสอบแต่ละหัวข้า เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 รวมทั้ง สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบท / สภาพของสถานศึกษา จากนั้น นำร่างหลักสูตรดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ความเห็นชอบ
อ้างอิง
http://elearning.aru.ac.th/1021205/edu01/topic1/linkfile/print.htm
https://sites.google.com/site/orathaieducation/hlaksutr-laea-kar-cadkar-reiyn-ru/kar-phathna-hlaksutr-sthan-suksa
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น