วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหลักสูตร

             ความหมายของหลักสูตร
               คำว่า “หลักสูตร” หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “ Curriculum ” ได้มีนักวิชาการทางการศึกษาได้ให้คำนิยามหรือความหมายของหลักสูตรไว้หลายทัศนะดังนี้
                    ราชบัณฑิตยสถาน (2546 : 1272) กล่าวว่า หลักสูตร หมายถึงประมวลวิชาและกิจกรรมต่างๆที่กำหนดไว้ในสถานศึกษา เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง
                    ส่วน เกล็น  แฮนส์ (Glen Hass, 1980 อ้างถึงใน ธำรง บัวศรี, 2542 : 4)กล่าวว่า หลักสูตรหมายถึงมวลประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับจากโปรแกรมการศึกษา ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยอาศัยกรอบของทฤษฎีและการวิจัยในอดีตและปัจจุบันเป็นพื้นฐาน
                    สำหรับ ธำรง บัวศรี (2542 : 7) ให้ความหมายว่า หลักสูตร คือ แผนซึ่งได้ออกแบบจัดทำขึ้นเพื่อแสดงถึงจุดหมายการจัดเนื้อหา กิจกรรมและมวลประสบการณ์ ในแต่ละโปรแกรมการศึกษา เพื่อผู้เรียนมีพัฒนาการในด้านต่างๆตามจุดหมายที่ได้กำหนดไว้
                    นอกจากนั้น ปรียาพร  วงศ์อนุตรโรจน์ (2543 : 25) ได้กล่าวถึงความหมายของหลักสูตรไว้  3 ประการคือ
                    1. หลักสูตรเป็นศาสตร์ที่มีทฤษฎี หลักการและการนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งหมายไว้
                    2. หลักสูตรเป็นระบบในการจัดการศึกษาโดยมีปัจจัยนำเข้า(Input) ได้แก่ครูนักเรียน วัสดุอุปกรณ์ อาคารสถานที่ กระบวนการ(Process)ผลผลิต(Output)ได้แก่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนความสำเร็จทางการศึกษา เป็นต้น
                    3. หลักสูตรเป็นแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่มุ่งประสงค์จะอบรมฝึกฝนผู้เรียนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ
                    บ๊อบบิท (Bobbitt, 1981 อ้างถึงในบรรพต สุวรรณประเสริฐ, 2544 : 14)กล่าวว่า หลักสูตร คือ รายการของสิ่งต่างๆซึ่งผู้เรียนและเยาวชนจะต้องทำและประสบโดยการพัฒนาความสามารถเพื่อจะทำสิ่งต่างๆให้ดีและเหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิตในวัยผู้ใหญ่
                    ธีระ  รุญเจริญ (2550 : 280 ) ได้ให้จำกัดความของคำว่าหลักสูตรดังนี้
                    1. หลักสูตร หมายถึง ประสบการณ์ทั้งหมดที่จัดให้นักเรียนโดยการควบคุมแนะนำของสถานศึกษาอันเป็นเครื่องมือที่ช่วยบรรลุวัตถุประสงค์ หรือความคาดหวังทางการศึกษาที่ตั้งไว้
                    2. หลักสูตร เป็นสื่อในการสอนที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ในการเรียนรู้เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
                   
                    ชุมศักดิ์  อินทร์รักษ์ (2551 : 47 ) ได้กล่าวสรุปว่า หลักสูตรเป็นเนื้อหาสาระสำคัญและกิจกรรมต่างๆ ที่สนองวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามที่พึงประสงค์
                    ดังนั้น หลักสูตร หมายถึง แนวการจัดประสบการณ์ และ/หรือ เอกสาร ที่มีการจัดทำเป็นแผนการจัดสภาพการเรียนรู้หรือโครงการจัดการศึกษา โดยมีการกำหนดวิธีการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดผลการเรียนรู้ตามจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมายตามที่หลักสูตรกำหนดไว้

             ความสำคัญของหลักสูตร


ความสำคัญของหลักสูตร  อำภา บุญช่วย (2533 : 20 - 21) สรุปได้ดังนี้
1.เป็นเอกสารของทางราชการ หรือเป็นบัญญัติของรัฐบาล เพื่อให้บุคคลที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาปฏิบัติ ไม่ว่าเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐบาลหรือเอกชน ดังนั้นหลักสูตรจึงเปรียบเสมือน “คำสั่ง” หรือ “ข้อบังคับ” ของทางราชการชนิดหนึ่งนั่นเอง
2.เป็นเกณฑ์มาตรฐานทางการศึกษา เพื่อควบคุมการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ รวมทั้งเป็นเกณฑ์มาตรฐานอย่างหนึ่งในการที่จะจัดสรรงบประมาณ บุคลากร อาคารสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษาของรัฐบาลให้แก่โรงเรียน
3.เป็นแผนการดำเนินงานของนักบริหารการศึกษาที่จะต้องอำนวยการควบคุมดูแล และติดตามประเมินผลให้เป็นไปตามนโยบายการจัดการศึกษาของรัฐบาล
4.เป็นแผนการปฏิบัติงานหรือเครื่องชี้นำทางในการปฏิบัติงานของครู เพราะหลักสูตรจะเสนอแนะจุดมุ่งหมาย การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และการประเมินผลการเรียนการสอนซึ่งครูควรจะปฏิบัติอย่างจริงจัง
5.เป็นเครื่องมือของรัฐในอันที่จะพัฒนาคนและพัฒนากำลังคนซึ่งจะเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติตามแผนของรัฐบาล
6.เป็นเครื่องชี้ถึงความเจริญของชาติ เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน ถ้าประเทศชาติใดมีหลักสูตรที่เหมาะสม ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้คนในประเทศของตนมีคุณภาพ
                    สำหรับ สันต์ ธรรมบำรุง  (2527 : 9 - 10) ได้กล่าวถึงความสำคัญของหลักสูตรไว้ว่า
1.หลักสูตรเป็นแผนปฏิบัติงานของครู เพราะหลักสูตรจะกำหนดจุดมุ่งหมายเนื้อหาสาระการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และการประเมินผลไว้เป็นแนวทาง
2.หลักสูตรเป็นข้อกำหนดแผนการเรียนการสอน อันเป็นส่วนรวมของประเทศเพื่อนำไปสู่ความมุ่งหมายตามแผนการศึกษาแห่งชาติ
3.หลักสูตรเป็นเอกสารของทางราชการเป็นบัญญัติของทางรัฐบาล เพื่อให้บุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการศึกษาปฏิบัติตาม
4.หลักสูตรเป็นเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา  เพื่อควบคุมการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ และยังเป็นเกณฑ์มาตรฐานอย่างหนึ่งในการจัดสรรงบประมาณ บุคลากร อาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ฯลฯ ของการศึกษาของรัฐให้แก่สถานศึกษาของรัฐบาลด้วย
5.หลักสูตรเป็นแผนดำเนินงานของผู้บริหารการศึกษาที่จะอำนวยความสะดวกและควบคุมดูแลติดตามผลให้เป็นไปตามนโยบายการจัดการศึกษาของรัฐบาลด้วย
6.หลักสูตรจะกำหนดแนวทางในการส่งเสริมความเจริญงอกงาม และพัฒนาการของเด็กตามจุดหมายของการศึกษา
7.หลักสูตรจะกำหนดลักษณะและรูปร่างของสังคมในอนาคตได้ว่าจะเป็นไปในรูปใด
8.หลักสูตรจะกำหนดแนวทางให้ความรู้ ทักษะและความสามารถความประพฤติที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอันเป็นการพัฒนากำลังคน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติที่ได้ผล
9.หลักสูตรจะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงความเจริญของประเทศ เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน ประเทศใดจัดการศึกษาโดยมีหลักสูตรที่เหมาะสม ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ทันต่อเหตุการณ์ และการเปลี่ยนแปลงย่อมได้กำลังคนที่มีประสิทธิภาพสูง
                    นอกจากนี้  สุนีย์ ภู่พันธ์ (2546 : 16) ได้กล่าวถึงความสำคัญของหลักสูตรสรุปได้ดังนี้
1.หลักสูตรเป็นเสมือนเบ้าหลอมพลเมืองให้มีคุณภาพ
2.หลักสูตรเป็นโครงการและแนวทางในการให้การศึกษา
3.หลักสูตรเป็นแนวทางในการส่งเสริมความเจริญงอกงามและพัฒนาการของเด็ก
ตามจุดหมายของการจัดการศึกษา
4.หลักสูตรเป็นเครื่องกำหนดแนวทางในการจัดประสบการณ์ว่าผู้เรียนและสังคมควรจะได้รับ
สิ่งใดบ้างที่เป็นประโยชน์แก่เด็กโดยตรง
5.หลักสูตรเป็นเครื่องมือกำหนดว่าเนื้อหาวิชาอะไรบ้างที่จะช่วยให้เด็กมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างราบรื่น เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม
6.หลักสูตรเป็นเครื่องกำหนดว่าวิธีการดำเนินการดำเนินชีวิตของเด็กให้เป็นไปด้วยความราบรื่นและผาสุกเป็นอย่างไร
7.หลักสูตรย่อมกำหนดแนวทางความรู้ ความสามารถ ความประพฤติทักษะและเจตคติของ
ผู้เรียนในอันที่อยู่ร่วมกันในสังคมและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและชาติบ้านเมือง
      โดยสรุปแล้วหลักสูตรมีความสำคัญเป็นอย่างมากในกระบวนการจัดการเรียนการสอน เพราะหลักสูตรบอกให้ทราบว่าผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายอย่างไร และจะต้องจัดเนื้อหาสาระอย่างไร เครื่องมือวัดผลประเมินผลอย่างไร  ดังนั้นหลักสูตรจึงเป็นหัวใจของการจัดการเรียนการสอน และเป็นตัวกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่ความมุ่งหมาย ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ และเป็นไปตามที่สังคมต้องการ
องค์ประกอบของหลักสูตร
                    ธำรง บัวศรี (2542 : 8 - 9) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของหลักสูตรพอสรุปได้ดังนี้
1.เป้าหมายและนโยบายการศึกษา (Education Good and Policies) หมายถึง สิ่งที่รัฐต้องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา
2.จุดหมายของหลักสูตร (Curriculum Amis) หมายถึงผลส่วนรวมที่ต้องการให้เกิดแก่ผู้เรียนหลังจากเรียนจบหลักสูตรไปแล้ว
3.รูปแบบและโครงสร้างหลักสูตร (Type and Stucture ) หมายถึง ลักษณะและแผนผังที่แสดงการแจกแจงวิชาหรือกลุ่มวิชา หรือกลุ่มประสบการณ์
4.จุดประสงค์ของวิชา(Subject  objectives) หมายถึงผลที่ต้องการให้เกิดแก่ผู้เรียนหลังจากที่ได้เรียนวิชานั้นแล้ว
5.เนื้อหา (Content)หมายถึงสิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะและความสามารถที่ต้องการให้มี รวมทั้งประสบการณ์ที่ต้องการให้ได้รับ  
ซเลอร์ และอเลกซานเดอร์ (Saylor and Alexander, 1974 : 100) ได้กล่าวว่า องค์ประกอบของหลักสูตรประกอบด้วย
1.       แผน
2.       ขอบเขตของหลักสูตร
3.       การออกแบบหลักสูตร
4.       รูปแบบการประเมินผล
5.       ระเบียบการประเมินผล
สำหรับ ไทเลอร์ (Tyler, 1950 : 1 อ้างถึงใน ชุมศักดิ์  อินทร์รักษ์, 2551 : 48 ) ได้เสนอข้อคิดเห็นไว้ 4 ประการในการจัดทำหลักสูตรดังนี้
1.       ความมุ่งหมายทางการศึกษาที่สถาบันต้องการให้บรรลุมีอะไรบ้าง
2.       เพื่อให้บรรลุความมุ่งหมาย จะต้องจัดประสบการณ์อะไรบ้าง
3.       ประสบการณ์ที่กำหนดไว้สามารถจัดให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร
4.       ทราบได้อย่างไรว่าบรรลุความประสงค์แล้ว
ทาบา (Taba, 1962 : 422. อ้างถึงในชุมศักดิ์  อินทร์รักษ์ , 2551 : 48) ได้กล่าวถึงส่วนประกอบของหลักสูตรไว้ว่า ต้องประกอบด้วย
1.       จุดมุ่งหมายทั่วไปและจุดมุ่งหมายเฉพาะ
2.       เนื้อหาสาระและประสบการณ์เรียนรู้
3.       การประเมินผล
โบแชมป์ (Beauchamp, 1975:107. อ้างถึงในชุมศักดิ์  อินทร์รักษ์, 2551 : 48) ได้กำหนดองค์ประกอบของหลักสูตรไว้ 4 ประการ
1.       เนื้อหา
2.       จุดมุ่งหมาย
3.       การนำหลักสูตรไปใช้
4.       การประเมินผล
นอกจากนี้  สุมิตร  คุณานุกร (2532 : 9) ได้ให้ความเห็นว่า องค์ประกอบของหลักสูตรมีอยู่ 4 องค์ประกอบ ดังนี้
1.   ความมุ่งหมาย (Objectives)
2.   เนื้อหา (Content)
3.   การนำหลักสูตรไปใช้ (Curriculum Implementation)
4.   การประเมินผล(Evaluation) 
ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า องค์ประกอบของหลักสูตรมีดังต่อไปนี้
               1.จุดมุ่งหมาย
               2.เนื้อหา/ประสบการณ์การเรียนรู้
               3.วิธีการจัดประสบการณ์/วิธีการจัดการเรียนรู้
               4.สื่อการเรียนรู้/วัสดุ/อุปกรณ์
               5.การวัดและประเมินผล
               ประเภทของหลักสูตร
              1. หลักสูตรแบบเนื้อหาวิชาหรือแบบรายวิชา ( The Subject Curriculum) หลักสูตรที่เน้นการถ่ายทอดเนื้อหาวิชา
              2. หลักสูตรแบบสัมพันธ์วิชา ( Correlated Curriculum) เป็นหลักสูตรที่นำเนื้อหาต่างๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันจัดไว้ด้วยกัน
              3. หลักสูตรแบบหมวดวิชาหรือสหสัมพันธ์ (The Broard Field Curriculum) จุดมุ่งหมาย ผสมผสานเนื้อหาวิชา เช่น หลักสูตรประถมศึกษา และหลักสูตรมัธยมศึกษา พ.ศ. 2503
              4. หลักสูตรกิจกรรมและประสบการณ์ (The Activities And Experience Curriculum) เป็นการแก้ไขข้อบกพร่องของหลักสูตรแบบรายวิชาที่ไม่คำนึงถึงความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
              5. หลักสูตรเพื่อชีวิตและสังคม (The Social Process And Life Function Curriculum)  หลักสูตรนี้จะยึดเอาสังคมและชีวิตของเด็กเป็นหลัก
              6. หลักสูตรแกนกลาง (The Core Curriculum) หลักสูตรแบบนี้จะกำหนดวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นศูนย์กลาง
            7. หลักสูตรแบบเอกัตภาพ (The Individual Curriculum) จัดเนื้อหาตามความเหมาะสมและความต้องการของผู้เรียนแต่ละบุคคล แนวคิดจาดปรัชญา อัตถิภาวนานิยม
            8. หลักสูตรบูรณาการ (The Integrated Curriculum)  เป็นการผสมผสานเนื้อหาเข้าด้วยกัน ไม่แยกเป็นรายวิชาจะเน้นที่ตัวเด็ก และปัญหาสังคมเป็นสำคัญ เช่น หลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521
            พัฒนาการของหลักสูตร
            หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2503 
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2503 มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้พลเมืองทุกคนได้รับการศึกษาตามควรแก่อัตภาพ ได้รับการศึกษาอยู่ในโรงเรียนจนอายุ 15 ปีบริบูรณ์ เป็นอย่างน้อย ในการจัดการศึกษานั้นเพื่อสนองความต้องการของสังคมและบุคคลโดยให้สอดคล้องกับแผนเศรษฐกิจและแผนการปกครองประเทศ  เนื้อหาสาระที่จัดในระดับประถมศึกษาตอนต้นมี 6หมวดใหญ่ คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาไทย ศิลปศึกษา พลานามัย สำหรับระดับประถมศึกษาตอนปลายเพิ่มหมวดวิชาภาษาอังกฤษและหัตถศึกษา ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นทั้งสายสามัญและสายอาชีพต้องเรียนเลขคณิตและพืชคณิตตลอดทั้ง 3 ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แบ่งเป็น3 แผนก คือ แผนกทั่วไป วิทยาศาสตร์ และศิลปะ หลังจากนั้นการศึกษาไทยได้เปลี่ยนมาใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2521 เนื่องจากความไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง การศึกษาไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ เป็นการศึกษาแพ้คัดออก คนมีโอกาสเรียนในระดับสูงน้อยมากมาก              
หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนเป็นคนดีมีคุณธรรม ให้มีความรู้ความสามารถ  มีความสุข รวมทั้งเป็นพลเมืองดีของสังคมและประเทศชาติ  เนื้อหาสาระที่เรียนมี 4 กลุ่ม คือ กลุ่มทักษะ (ไทย-คณิต) กลุ่มประสบการณ์ชีวิต กลุ่มลักษณะนิสัย และกลุ่มการงานหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง 2533) มีจุดมุ่งหมายเพื่อมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พร้อมที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคมภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  เนื้อหาสาระมี5 กลุ่ม กลุ่มทักษะในหลักสูตร 2521 เปลี่ยนเป็นกลุ่มทักษะที่เป็นเครื่องมือ     การเรียนรู้ และเพิ่มกลุ่มประสบการณ์พิเศษ ส่วนหลักสูตรมัธยมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง 2533) มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษาต่อให้สามารถทำประโยชน์เพื่อสังคมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  เนื้อหาสาระที่เรียนประกอบด้วยวิชาบังคับแกน(ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา พลานามัย และศิลปศึกษา) วิชาบังคับเลือก วิชาเลือกเสรี และกิจกรรม    จากการใช้หลักสูตรดังกล่าวไม่สามารถส่งเสริมให้สังคมไทยก้าวไปสู่ส่งคมความรู้ในยุคโลกาภิวัตน์ได้ทันการณ์ ไม่สะท้อนความต้องการของท้องถิ่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติจึงเปลี่ยนไปใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 มีจุดมุ่งหมายมุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี  มีปัญญา มีความสุข และมีความเป็นไทย มีศักยภาพในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ แบ่งระดับการศึกษาเป็น ช่วงชั้น สาระ  การเรียนรู้มี กลุ่มสาระ คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จากการใช้หลักสูตรพบว่ามีความสับสนใน  ผู้ปฏิบัติการในสถานศึกษา หลักสูตรแน่นเกินไป ปัญหาในการเทียบโอน และปัญหาคุณภาพผู้เรียนในด้านความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ จึงเปลี่ยนมาใช้ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยเพิ่มสมรรถสำคัญของผู้เรียนและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ส่วนเนื้อหาสาระยังคงใช้ กลุ่มสาระเหมือนหลักสูตร 2544 แต่หลักสูตรกำหนดตัวชี้วัดมาให้ ส่วนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนนั้นเพิ่มกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมด้วย                                                 สรุปได้ว่าหลักสูตรการศึกษาเปลี่ยนไปเพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง
                                             สมรรถนะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
             1. ความสามารถในการสื่อสาร คือความรู้สึกและทัศนะของตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์อัน จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคม รวมทั้งการเจรจาต่อรอง เพื่อขจัดและลดปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ การเลือกรับหรือไม่รับข้อมูลข่าวสาร ด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง ตลอดจนการเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเองและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับ ICT Literacy
              2. 
ความสามารถในการคิด เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคม ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับ Learning Thinking Skills
               3. 
ความสามารถในการแก้ปัญหา เป็นความสามารถในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมบนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรมและข้อมูลสารสนเทศ เข้าใจความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคม แสวงหาความรู้ ประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา และมีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ Life skill
                4. 
ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่าง ๆไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การทำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล การจัดการปัญหาและความขัดแย้งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม และการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น สอดคล้องกับ Life skill
               5. 
ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เป็นความสามารถในการเลือกและใช้ เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ และมีทักษะกระบวนการทางเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม ในด้านการเรียนรู้ การสื่อสาร การทำงาน การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง เหมาะสม และมีคุณธรรม สอดคล้องกับ ICT Literacy
                                หลักสูตร และการสอนในศตวรรษที่ 21
-  สอนทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งแยกกัน ในบริบทของวิชาหลักและ รูปแบบสหวิทยาการในศตวรรษที่  21
-  มุ่งเน้นไปที่การให้โอกาสสำหรับการใช้ทักษะในศตวรรษที่ 21 ในเนื้อหาและวิธีการตามความสามารถในการเรียนรู้
-  
ช่วยให้วิธีการเรียนรู้นวัตกรรมที่บูรณาการการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนแนวทางเพิ่มเติมในการใช้ปัญหาเป็นฐาน  และทักษะการคิดขั้นสูง
-  
สนับสนุนให้รวมทรัพยากรของชุมชน ภูมิปัญญาชาวบ้าน แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน
                                   สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
-  สร้างการเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่สนับสนุนความต้องการของมนุษย์และสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่จะสนับสนุนการเรียนการสอนและการเรียนรู้ด้วยทักษะในศตวรรษที่ 21
-  
สนับสนุนการเรียนรู้ชุมชนมืออาชีพที่ช่วยให้การศึกษาเพื่อการทำงานร่วมกันแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีและบูรณาการทักษะในศตวรรษที่ 21 ในการปฏิบัติในชั้นเรียน
-  
ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ในงานที่เกี่ยวข้องในโลกศตวรรษที่ 21 แวดล้อมจริง (เช่น ปฏิบัติจริงหรือผ่านการทำงานที่ใช้ตามโครงการหรืออื่น ๆ )
-  
เรียนรู้การใช้เครื่องมือเทคโนโลยีและทรัพยากรอย่างมีคุณภาพ  รู้จักการทำงานสำหรับการเรียนรู้เป็นกลุ่มทีมและรายบุคคล
-  
สนับสนุนการติดต่อกับชุมชนและการมีส่วนร่วมระหว่างต่างชาติในการเรียนรู้โดยตรงและออนไลน์
อ้างอิง
http://www.kroobannok.com/blog/39838
http://www.kruchiangrai.net/2012/08
http://5581103061.blogspot.com/2013/07/21.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น